มรภ.สงขลา จัดอบรมผลิตสื่อส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน
คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา จัดอบรมผลิตสื่อส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สอนตัดต่อคลิปวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือ โชว์ของดีประจำถิ่นผ่านสื่อออนไลน์ เชื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงธุรกิจ
ผศ.นิตยา จิตรักษ์ธรรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวว่า โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์จัดอบรมผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน (คลิปวิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์) ให้แก่เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลเกาะแต้ว (ทต.เกาะแต้ว) ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวชุมชนรวม 35 คน เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวของชุมชน โดยการอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ วจก. บริการวิชาการ สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน ต.เกาะแต้ว ซึ่ง มรภ.สงขลา นำโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะต่างๆ ร่วมกันหารือและกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการบริการวิชาการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน รวมทั้งเข้าสำรวจเบื้องต้นเพื่อหาความต้องการที่แท้จริง โดยมหาวิทยาลัยกำหนดให้พื้นที่ ทต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงาน
ผศ.นิตยา ยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจเบื้องต้นทำให้ทราบสภาพปัญหาในพื้นที่ว่าควรนำความรู้ทางวิชาการมาให้บริการในส่วนใดบ้าง คณะวิทยาการจัดการจึงวางแผนงานให้สอดคล้องกับโครงการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยมีโปรแกรมวิชาต่างๆ เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย นำมาสู่โครงการ วจก. บริการยยวิชาการ สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน ต.เกาะแต้ว ซึ่งจะช่วยให้เทศบาลฯ และผู้ประกอบการมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ได้รับการพัฒนาในเชิงวิชาการให้สามารถดำเนินงานและประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น ยั่งยืน และสามารถเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้ ซึ่งทางคณะฯ ดำเนินงานบริการวิชาการโดยร่วมมือกับ ทต.เกาะแต้ว ตั้งแต่ลงพื้นที่ระดมสมอง ศึกษาความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นสรุปเพื่อหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน จนสามารถกลายเป็นชุมชนต้นแบบได้
ทางด้าน ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา วิทยากรอบรมผลิตสื่อฯ เผยว่า ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายและตัดต่อคลิปวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือโดยใช้แอปพลิเคชั่น Kinemaster พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติผลิตสื่อคลิปวิดีโอส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะแต้ว นำมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งตามความต้องการและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านบริการวิชาการกับองค์กรภายนอก
“ถ้าในยุค 4.0 เราได้เห็นชาวบ้านหยิบเอาโทรศัพท์มือถือมาสร้างสรรค์เรื่องราวในบ้านตัวเองนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์และใช้กระบวนการตัดต่อแบบง่ายๆ ผมยังเชื่อว่ายังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมายที่เรายังไม่รู้ในโลกใบนี้ การอบรมผลิตคลิปวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือของโปรแกรมนิเทศศาสตร์ในครั้งนี้ เราได้เห็นภาพน่ารักๆ ของชาวบ้านที่ตั้งใจเรียนรู้ พยายามสร้างสรรค์และถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ออกมา นี่แหละคือ พลังของเทคโนโลยีในยุค 4.0 ของจริง ที่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกสร้างสรรค์จากโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา