สมาคมการศึกษาเอกชน นราธิวาส จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติในพิธีเปิดงาน 100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย ขณะที่นายกฯสมาคมร้องยกระดับครูเอกชนเท่าเทียมกับครูรัฐ ด้าน ผอ.ส.การศึกษาเอกชนนราธิวาส วาง 4 ด้านผลมาตรการยกระดับครูเอกชน
ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ศาลากลาง อ.เมืองนราธิวาส ดร.ชลำ อรรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “100 ปี การศึกษาเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย”ระดับจังหวัดนราธิวาส ปี 2561 โดยมีผู้บริหาร ครู บุคลากรโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ โรงเรียนเอกชนทุกระบบ ตลอดจนภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ จำนวน 1,000 คน เข้าร่วมงาน
สืบเนื่องจากการจัดงานมหกรรมการศึกษาเอกชน ปี 2561 ภายใต้แนวคิด “100 ปี การศึกษาเอกชน มั่งมั่นพัฒนาการศึกษาไทย” ในส่วนภูมิภาค (ภาคใต้) ณ จ.สุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งในงานดังกล่าวมีการมอบเกียรติบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ “ครูดีศรีเอกชนระดับเพชร” และผู้ให้การสนับสนุนการศึกษาเอกชน ดังนั้น สมาคมการศึกษาเอกชน จ.นราธิวาส จึงร่วมกันพิจารณา และลงความเห็นว่าควรจัดกิจกรรม “100 ปี การศึกษาเอกชน” ในระดับจังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และเชิดชูเกียรติแก่เพื่อนครูโรงเรียนเอกชนที่ทุ่มเท เสียสละ ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ มั่งมั่นพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนราธิวาส มาโดยตลอด โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆดังนี้ 1.พิธีมอบเข็มเชิดฃูเกียรติ “ครูดีศรีเอกชน”ระดับจังหวัดนราธิวาส จำนวน 65 คน 2.พิธีมอบเข็มที่ระลึก “100 ปี การศึกษาเอกชน” จำนวน 73 คน 3.พิธีมอบเกียรติบัตรแก่บุคลากรส่งเสริมการศึกษาเอกชนดีเด่น จำนวน 15 คน
นายบุญฤทธิ์ โวพิกุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่นราธิวาส ก็ไม่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆมากนัก เพียงแต่พื้นที่ จ.นราธิวาส มีปัจจัยเอื้ออยู่หลายตัว ซึ่งมีพ่อแม่พี่น้องที่นับถือศาสนาที่หลากหลาย และที่สำคัญที่สุด คือ ในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีแต่ตัวอักษรในการให้ความสำคัญ เช่น เป็นพื้นที่เฉพาะกิจพิเศษ แต่กลับไม่มีอะไรพิเศษสำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะครูในภาคเอกชนแล้วยังขาดการเหลียวแล ขาดการดูแล โดยที่รัฐธรรมนูนเอื้อให้ความเสมอภาคทั้งครูและเด็กแต่เด็กเอกชนยังไม่ได้รับการเหลียวแลมันมีความเหลื่อมล้ำในขั้นตอนของการปฏิบัติ จึงอยากจะฝากไปยังผู้มีอำนาจที่ดูแลทางการศึกษาเพื่อให้ครูยืนอยู่ได้ในสังคมการศึกษา เพราะครูทุกคนก็ทำเพื่อเด็กและประเทศชาติ และเป็นลูกของครอบครัวคนไทยที่เสียภาษี แต่รัฐบาลส่วนกลางกลับนำภาษีไปปลีกย่อยให้กับโรงเรียนภาครัฐที่ได้ค่าอาหารเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เด็กในโรงเรียนเอกชนยังไม่ได้รับเลย ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่รัฐบาลกลางยังไม่เห็นความสำคัญ และเป็นเหตุผลที่การศึกษาในภาคใต้ได้ระดับการเรียนที่ต่ำกว่าที่อื่น
ส่วน ดร.วาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาเอกชน จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า การพัฒนาโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในอนาคตนั้น เป้าหมายของโรงเรียน คือผู้เรียน ซึ่งต้องการให้โรงเรียนพัฒนาผู้เรียนอยู่ภายในกรอบ 4 ด้าน คือ 1.ความเป็นท้องถิ่น หรืออัตลักษณ์ ของจังหวัดนราธิวาสยังคงอยู่คู่กัน 2.ความเป็นผลเมืองไทยที่มีวิญญาณของความเป็นไทยอยู่ด้วย 3.ผู้เรียนจะต้องมีความเป็นอาเซี่ยนที่มีทักษะอยู่ร่วมกันกับอาเซี่ยน และ 4.ต้องเป็นผลเมืองโลกอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีความสุขสอดคล้องและให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ด้วย
“ในส่วนของการพัฒนาครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนนั้น ขณะนี้ได้เร่งรัดของด้านการให้ความรู้เป็นเบื้องต้นก่อน และหลังจากนั้นแล้วจะติดตามนิเทศให้เขาได้เป็นครูที่มีมาตรฐานพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้มีใบประกอบวิชาชีพจนครบทุกคน และมีเป้าหมายให้ครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนในอนาคตนั้นควรจะมีค่าตอบแทนเหมือนครูในโรงเรียนรัฐเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ครูในโรงเรียนเอกชนและสามารถทำงานอย่างเต็มที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส