ป.ป.ส. ขับเคลื่อนความร่วมมือเฝ้าระวังยาเสพติดระดับภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 5
วันที่ 7 มีนาคม 2561 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7 – 9 มีนาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมประชุม รวม 120 คน ประกอบด้วย ผู้แทนประเทศในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน UNODC เครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด ผู้แทนศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย (ศปง.มข.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อทดสอบระบบและอภิปรายปัญหาอุปสรรคในการนำเข้าข้อมูลในระบบ ADM Report System บนเว็บไซต์ ASEAN – NARCO ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและร่วมกันจัดทำรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียน ฉบับที่ 3 ประจำปี 2560 รวมถึงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเครือข่ายอาเซียนเฝ้าระวังยาเสพติด ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนส่งผลให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นระบบมากขึ้นในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในภูมิภาค ประเทศไทยจึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน หรือ ASEAN Narcotics Cooperation Center (ASEAN – NARCO) ซึ่งสำนักงานของศูนย์ฯ ตั้งอยู่ใน สำนักงาน ป.ป.ส. ที่กรุงเทพฯ โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ประเทศไทย ได้ริเริ่มโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียนขึ้นเมื่อปลายปี 2558 เป็นโครงการหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในด้านความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาศักยภาพ และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ASEAN – NARCO เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดให้สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์สถานการณ์ยาเสพติดของภูมิภาคอาเซียนร่วมกันได้ อันนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอาเซียน (ASEAN Drug Monitoring Network : ADMN) โดยประเทศสมาชิกมีมติเห็นพ้องและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันมีผลงานสำคัญ คือ
(1) กำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการของเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียนปีละ 2 ครั้ง
(2) กำหนดแบบสำรวจข้อมูลยาเสพติด : ซึ่งสมาชิกทุกประเทศจะต้องรวบรวมข้อมูลตามแบบและรายงานเข้ามายัง ASEAN-NARCO ปีละ 2 ครั้ง
(3) ร่วมกันจัดทำรายงานเฝ้าระวังประจำปี : ซึ่งรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียนประจำปี 2558 เป็นรายงานฉบับแรกของภูมิภาค ปัจจุบันจัดทำรายงานแล้ว 2 ฉบับ โดยรายงานฉบับที่ 2 ประจำปี 2560 ได้นำเสนอและเปิดตัวรายงานในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติดครั้งที่ 38 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามขณะนี้อยู่ระหว่างประเทศสมาชิกกำลังจะร่วมกันจัดทำรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียน ประจำปี 2561 เป็นฉบับที่ 3 ในการจัดทำรายงาน สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด ซึ่งนำโดย ผศ.นพ. อภินันท์ อร่ามรัตน์ และ รศ.ดร. มานพ คณะโต ในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์
(4) การพัฒนาระบบข้อมูลรายงานเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน (ADM Report System) บนเว็บไซต์ ASEAN -NARCO เพื่อเป็นช่องทางในการนำเข้าข้อมูลเฝ้าระวังของประเทศสมาชิกอาเซียน
โดยที่ผ่านมา การประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียนทั้ง 4 ครั้ง เน้นไปที่การรวบรวมและนำเสนอข้อมูลตามแบบรายงาน การปรับแบบรายงานให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้ การจัดทำรายงานสถานการณ์ของแต่ละประเทศในภูมิภาค รวมถึงการติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อนำเข้าข้อมูลเฝ้าระวังของประเทศสมาชิกอาเซียน
จากสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียนจากรายงาน 2 ฉบับที่ผ่านมาพบว่า มีตัวยาหลักที่แพร่ระบาดในภูมิภาค 5 ตัวยา คือ เมทแอมเฟตามีน ซึ่งภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกรองลงมาคือ ไอซ์ เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้พบว่ามียาเสพติดที่ควรเฝ้าระวังในภูมิภาคอาเซียนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 คือกลุ่ม ATS ซึ่งเป็นตัวยาที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนโดยมีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาเมทแอมเฟตามีนในอาเซียนสูงสุดถึงร้อยละ 80
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม NPS มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งชนิดและปริมาณในหลากหลายตัวยา อาทิ XLR-11หรือกัญชาสังเคราะห์ที่เริ่มมีการเข้ามาแพร่ระบาดในภูมิภาคอาเซียนพบในเวียดนามและพบ Fly High ซึ่งเป็น Party Drug แพร่ระบาดในฟิลิปปินส์โดยในประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของ Ketamine Erimin 5 และ Magic Mushroom (เห็ดขี้ควาย) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในด้านพฤติกรรมของบุคคล ยังพบกลุ่มนักค้าชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำผิดในอาเซียน ทั้งในฐานะของนักค้าและผู้รับจ้างลำเลียง มีหลากหลายสัญชาติ โดยกลุ่มนักค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุด ซึ่ง 2 ใน 3 คือ กลุ่มนักค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเองนอกจากนี้ เริ่มมีข่าวการเชื่อมโยง Bitcoinกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น การใช้ Bitcoin ซื้อยาเสพติดใช้ใน Darkmarket รวมทั้ง การซื้อขายยาเสพติดผ่านทางออนไลน์และการขนส่งยาเสพติดผ่านบริษัทขนส่งเอกชน เช่น ไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น จึงควรเริ่มมีการเฝ้าระวังในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน ครั้งที่ 5 นี้ซึ่งถือว่าการประชุมในครั้งนี้ดำเนินมาถึงระยะที่ 3 คือ การพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดเนื่องจากในปี 2561 การพัฒนาระบบ ADM Report System เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน จึงกำหนดให้มีการทดสอบระบบและอภิปรายปัญหาอุปสรรคในการนำเข้าและเรียกใช้ประโยชน์ข้อมูลจาก ADM Report System ผ่านทางระบบonline ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังยาเสพติดที่รวดเร็ว ประหยัดเวลา และทรัพยากรของทุกประเทศ มีศักยภาพทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป
ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย
“สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”
แจ้งเบาะแสยาเสพติดสายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386