ทางหลวงเพชรบุรี ระบุ ประชาชนกว่า200หลังคาเรือน รุกล้ำเเนวเขต
จากกรณีที่ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ริมถนนสายเขื่อนเพชร-แก่งกระจาน ในพื้นที่ตำบลวังจันทร์ และตำบลแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ประมาณ 100 คน นำโดยนางสมศรี จันทร์แก้ว ได้รวมตัวและยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายอำเภอแก่งกระจาน เรื่องความเดือดร้อน จากกรณีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ขยายเขตและทำการปักเสาพาดสายไฟฟ้า บริเวณสองฝั่งถนนสายเขื่อนเพชร-แก่งกระจาน ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร โดยแนวปักเสาพาดสาย ซึ่งชาวบ้านอ้างว่า ตำแหน่งที่มีการปักเสาลุกล้ำเข้าไปในที่ดินของชาวบ้าน ประกอบกับชาวบ้านบางรายได้รับหนังสือเตือนจากกรมทางหลวงว่า มีสิ่งปลูกสร้างของราษฏรลุกล้ำเข้าไปในแนวเขตทางหลวง ให้ทำการรื้อถอนออก โดยระบุว่าแนวเขตทางหลวงมีระยะ 40 เมตร แต่ชาวบ้านแย้งว่า ถนนบางส่วนมีเขตทางแค่ 20 เมตร จึงขอให้ทางอำเภอแก่งกระจานทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากชาวบ้านเดือดร้อน
ล่าสุดทางอำเภอแก่งกระจานได้นัดหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำการชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านในวันที่ 21 มี.ค.2561 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมเล็ก ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน
ต่อมาเวลา 10.00 น. นายเจริญฤทธิ์ จันทิมา ปลัดอาวุโสอำเภอแก่งกระจาน รักษาราชการแทนนายอำเภอแก่งกระจาน ได้เป็นประธานในการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ณ ห้องประชุมเล็ก ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน โดยมี นางชาลินี เกตุสกุล หัวหน้าสารสนเทศแขวงทางหลวงเพชรบุรี นายดิเรก ไม้เขียว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง และผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาร่วมชี้แจง โดยมีราษฏรในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน
โดยประธานในที่ประชุมได้เปิดประชุมการประชุมชี้แจงโดยมอบให้ผู้แทนจากกรมที่ดิน กรมชลประทาน กรมทางหลวง และการไฟฟ้าได้ชี้แจงที่มาของโครงการขยายเขตปักเสาพาดสาย โดยสรุปได้ว่า ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีการขยายเขตเพื่อปักเสาพาดสายไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยได้ทำเรื่องขออนุญาตขยายเขตไปยังกรมทางหลวงและได้รับการอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ขณะดำเนินการมีชาวบ้านมาทำการคัดค้านโดยอ้างว่าอยู่ในเขตที่ดินของตนเอง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ในหลายจุด จึงได้แจ้งเรื่องไปยังกรมทางหลวงให้ทราบตามลำดับ
ขณะที่นางชาลินี เกตุสกุล หัวหน้าสารสนเทศแขวงทางหลวงเพชรบุรี ชี้แจงว่า เส้นทางสายนี้ กรมทางหลวงได้รับมอบจากกรมชลประทาน เมื่อปีพ.ศ.2537 ซึ่งเส้นทางช่วง 10 กิโลเมตรหลังจนถึงเขื่อนเพชรเราได้รับมอบจากกรมชลประทาน ข้างละ 40 เมตร จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้บุกรุก จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้บุกรุกทุกรายทราบ ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ ทางการไฟฟ้าภูมิภาค ได้มาขออนุญาตปักเสาพาดสายในเขตทางหลวง กรมทางหลวงจึงได้พิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ของกรมทางหลวง และเมื่อการไฟฟ้าดำเนินการตามคำอนุญาต ชาวบ้านก็คิดว่า ทางการไฟฟ้าปักเสาบุกรุกเข้าไปในที่ดินของตัวเอง จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นทางกรมทางหลวงก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อจะได้พิสูจน์ทราบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เมื่อชาวบ้านยังยืนยันว่า มีเอกสารสิทธิ์เป็นที่ดินของช่าวบ้านก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิทางศาลต่อไป
นางชาลินี เปิดเผยต่ออีกว่า จากการสำรวจของแขวงทางหลวงเพชรบุรี พบว่า มีผู้รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตทางหลวงดังกล่าว จำนวน 228 ราย แยกเป็น 5 กลุ่ม คือ ร้านค้าแผงลอย 42 ร้าน ต่อเติมหน้าบ้าน 54 หลัง ก่อสร้างอาคารร้านค้า 110 หลัง สร้างร้านค้าพร้อมที่พักอาศัย 13 หลัง เป็นบ้านพักอาศัย 9 หลัง โดยทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสารแจ้งผู้รุกล้ำทราบ และหากรายใดมีข้อโต้แย้งหรือมีหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดิน ก็จะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิของศาลต่อไป
ในส่วนของหลักฐานบันทึกการรับมอบทาง แขวงการทางเพชรบุรี ได้นำเอกสารบันทึกการรับมอบถนนทั้งสามสายมาแสดงต่อที่ประชุม โดยเป็นหนังสือทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการรับมอบทางชลประทาน จำนวน 3 สาย ประกอบด้วย
1. สายเขื่อนเพชร-เขื่อนแก่งกระจาน ระหว่าง กม.0+000-กม.24+750 ระยะทาง 24.750 กิโลเมตร
2. สายทางเลี่ยงเขื่อนเพชร ระหว่าง กม.0+0.00-กม.1+550 ระยะทาง 1.550 กิโลเมตร
3. สายเขื่อนเพชร-เขาลูกช้าง ระหว่าง กม.0+111-กม.16+500 ระยะทาง 16.500 กิโลเมตร
มาอยู่ในความควบคุมของกรมทางหลวง เป็นทางบำรุง ระหว่างกรมชลประทาน โดย
1.นายวิศิษฐ์ สถิระนาวิน ตำแหน่ง รักษาการหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 10
2.นายยงยุทธ พรหมมาลี ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานชลประทานที 10
3.นายสุนทร มณฑาพันธุ์ ตำแหน่ง หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ในฐานะตัวแทนกรมชลประทาน เป็นผู้ส่งมอบ ตามหนังสือกรมชลประทานอนุมัติให้ส่งมอบ ที่กษ 0310/2859 ลงวันที่ 26 เมษายน 2537 กับกรมทางหลวงโดยนายสนิท เหรียญรุ่งเรือง ตำแหน่ง นายช่างแขวงการทางหัวหิน เป็นผู้รับมอบในฐานะตัวแทนกรมทางหลวง ตามหนังสือกรมทางหลวง อนุมัติให้รับมอบ ที่ คค 0616/2/3501 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2537 โดยผู้ส่งมอบได้ส่งมอบให้กับผู้รับมอบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2537 พร้อมหลักฐานเอกสารฯลฯ
ขณะที่นายเจริญฤทธิ์ จันทิมา ปลัดอาวุโสอำเภอแก่งกระจาน รักษาราชการแทนนายอำเภอแก่งกระจาน ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า เมื่อแต่ละหน่วยงานได้นำเอกสารหลักฐานพร้อมข้อมูลมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับราษฏรแล้ว ก็เป็นเรื่องที่แต่ละรายหากคิดว่าตนเองกระทบสิทธิ ก็ต้องไปพิสูจน์สิทธิกันในชั้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยทางอำเภอจะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เราเป็นคนกลางที่เชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและหาความกระจ่างที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เข้าใจเพื่อแก้ปัญหาต่อไป.
กสิพล ศิริลาภ/เพชรบุรี