อาชีวะส่งนักศึกษาฝึกอาชีพเข้ม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การเรียนอาชีวศึกษาหรือการเรียนด้านวิชาชีพเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์ตรงในสาขาวิชาที่เรียน อีกทั้งยังต้องมีทักษะวิชาชีพที่เข้มข้น พร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันที การแสวงหาประสบการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ จึงต้องขยายความร่วมมือในการฝึกประสบการณ์อาชีพไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าในระบบอุตสาหกรรมหลัก เช่น ระบบราง ระบบการขนส่ง อุตสาหกรรมรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในภาคฤดูร้อนนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้ส่งนักศึกษาจำนวน 84 คน ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมอบหมายให้ ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้ควบคุมดูแล และร่วมเดินทางไปส่งนักศึกษาทั้งหมด เพื่อจะได้สำรวจดูสภาพที่พัก การดำเนินชีวิตและแหล่งฝึกประสบการณ์อาชีพของนักศึกษา
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า โครงการฝึกประสบการณ์ หรือฝึกอาชีพแบบเข้มข้นนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 84 คน ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) บุรีรัมย์ 37 คน วท. จันทบุรี 20 คน วท.พังงา 9 คน วท.พระนครศรีอยุธยา 4 คน วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) อุดรธานี 4 คน วอศ.สุรินทร์ 3 คน วอศ.อุบลราชธานี 3 คนและวอศ.ภูเก็ต 4 คน โดยแบ่งเป็นสาขาวิชาช่างยนต์ /ช่างกลโรงงาน 20 คน สาขาไฟฟ้า / อิเล็กทรอนิกส์ 20 คน สาขาช่างก่อสร้าง / โยธา 20 คน และสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก 24 คน และนักศึกษาทั้ง 84 คน ได้ผ่านการสอบวัดระดับความสามารถภาษาจีน (HSK) ได้ในระดับ 2 ซึ่งเป็นการทดสอบสำหรับผู้ที่ไม่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่ พร้อมทั้งสถาบันเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่ง ได้ส่งครูจำนวน 4 คน นักศึกษาจีนจำนวน 20 คน มาช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานภาษาจีนและวิชาชีพ ก่อนจะเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ดร.ประชาคม กล่าวต่อไปว่า การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 16 มิถุนายน 2561 โดยสถาบันเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่ง ได้สนับสนุนค่าที่พัก ค่าหนังสือ และค่าครองชีพเดือนละ 1,000 หยวน (5,000 บาท) และมีนักศึกษาจีนเป็นพี่เลี้ยง สถาบันเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่งมีสาขาให้เลือกเรียนทั้งหมด 48 สาขา มี 3 วิทยาเขต มีครู 741 คน มีนักศึกษา 13,000 คน ซึ่งนักศึกษาไทยจะกระจายตัวไปตามสาขาต่าง ๆ ที่ได้เลือกไว้ และร่วมฝึกประสบการณ์ตรงกับนักศึกษาจีน เช่น การเรียนรู้ระบบเครื่องยนต์ของเอเชีย และยุโรป การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งลงมือปฎิบัติจริงในการแก้ไขรถยนต์ที่มีปัญหา เรียนรู้เรื่องการขนส่งระบบรางพร้อมปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ การเรียนรู้เรื่องกราฟิก 2 มิติ และ 3 มิติ และรับงานจริงมาทำ การเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์และระบบควบคุม พร้อมประกอบจริงเพื่อนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการฝึกประสบการณ์อาชีพครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีมากของนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่จะได้เปิดโลกทัศน์ รับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อที่จะนำไปใช้ ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ที่วิทยาลัย และเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับการ
เชื่อมต่อกับการมีงานทำ สำหรับสถาบันเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่ง ถือเป็นสถาบันตัวอย่างที่ดำเนินการตามนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นั่นคือโครงการ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (One Belt, One Road) ซึ่งมีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต ที่บรรพบุรุษของไทยและจีนได้เดินทางไปมาหากัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน การส่งนักศึกษาอาชีวะไทยไปฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ เปรียบเสมือนหนึ่งการย้อนรอยที่บรรพบุรุษของทั้งสองประเทศได้ปูทางไว้ และเป็นการสร้างโอกาส การเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวเข้าสู่ตลาดกำลังคนที่มีแนวโน้มในการขยายตัวเพื่อรับผู้ที่จบการศึกษาอาชีวศึกษาเข้าทำงานมากขึ้น ในส่วนของนักศึกษาก็จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพที่เป็นสากล ทักษะทางภาษาที่ใช้ในอาชีพ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาเพิ่มเติมถึงเรื่องการเปิดสอนระบบขนส่งทางราง ระดับ ปวส. ของอาชีวศึกษาในปีการศึกษา 2561 เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการขนส่งของประเทศไทย ซึ่ง สอศ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษา 4 แห่งดำเนินการ ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นวิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น และวิทยาลัยอาชีวศึกษาการขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง ในการจัดหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน โดย สอศ.จะส่งนักศึกษาจากสถานศึกษาทั้ง 4 แห่ง มาเรียนและฝึกประสบการณ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ด้านนายกัว หลี่ คณบดีของสถาบันเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจฉงชิ่ง กล่าวปิดท้ายว่า โลกปัจจุบันไม่ใหญ่เหมือนที่เราคิด โลกมีการเปลี่ยนแปลงและถูกย่อลงด้วยเทคโนโลยี การเรียนรู้จึงอาศัยองค์ความรู้เชิงเดี่ยวไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้จากภายนอก จากสังคมต่างมิติ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเท่าทัน เกิดการรับรู้ไปพร้อม ๆ กัน สถาบันฯ ยินดีที่ได้รับนักศึกษาอาชีวะไทยมาร่วมเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ร่วมกับนักศึกษาจีนของสถาบันฯ เพราะการแลกเปลี่ยนความคิด วัฒนธรรมและองค์ความรู้จะทำให้ทุกคนเท่าทันเทคโนโลยี มีความเป็นสากล เกิดเส้นทางมิตรภาพที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
กลุ่มประชาสัมพันธ์
31 มีนาคม 61