วันนี้ (2 เม.ย.61) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.(ปป) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบช.ภ.3 ร่วมประชุมบริหารราชการตำรวจภูธรภาค 3 โดยมี ข้าราชการตำรวจ ระดับ ผกก.ขึ้นไปทุกนายในสังกัด ภ.3 เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุม ภ.3
ในครั้งนี้ รอง ผบ.ตร.(ปป) ได้มอบนโยบายและข้อราชการสำคัญ โดยเน้นงานสำคัญ 4 ด้าน คือ ด้านป้องกันอาชญากรรม มุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ป้องกันไม่ให้มีเหตุเกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาการจัดระบบสายตรวจ ด้านปราบปรามอาชญากรรม ให้ทุกสถานีตำรวจจะต้องระดมกวาดล้างอาชญากรรม อย่างน้อย 10 วันต่อเดือน ระดับตำรวจภูธรจังหวัดต้องปิดล้อมตรวจค้นทุกวันที่ 10 , 20 และ 30 ของทุกเดือน เน้นกลุ่มเป้าหมาย อาวุธปืน/อาวุธสงคราม ยาเสพติด หมายจับค้างเก่า การจัดระเบียบสังคม นักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท การแข่งรถในทาง พื้นที่เสี่ยงเกิดอาชญากรรมทุกประเภท และหนี้นอกระบบ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและอาชญากรรมพิเศษ ให้แนวทางในการปฏิบัติงานการมีส่วนร่วมและการประสานงานกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษต่างๆ ไว้แล้ว ขอให้ไปตรวจสอบ/ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทาง และข้อสั่งการดังกล่าว และการขับเคลื่อน และการประเมินผล จะมีการติดตาม ประเมินผล ทั้งในเชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ โดยมอบหมาย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้ลงพื้นที่ในการกวดขันขับเคลื่อนนโยบายงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้บรรลุเป้าหมายตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้
สำหรับการประเมินผลงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตามแผนพิทักษ์ภัยให้ประชาชน 2561 ได้กำหนดแนวทางการตรวจประเมินผลการป้องกันอาชญากรรมไว้ 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารระบบงานสายตรวจ การประเมินประสิทธิภาพการควบคุมสั่งการของศูนย์วิทยุ สน./สภ. และศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 เสริมการปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการใช้แอพพลิเคชั่น Police I Lert U และการประเมินผลการควบคุมคดีอัตราการเกิดจากสถิติคดีอาญา 4 กลุ่ม กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับ บก./ภ.จว. พิจารณาคัดเลือกสถานีตำรวจ ที่มีการบริหารจัดการงานป้องกันอาชญากรรม ตามแบบประเมินที่กำหนด
ในส่วนการยกระดับบริการประชาชนของสถานีตำรวจ ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งห้วงที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ออกสุ่มตรวจหลาย สน./สภ. พบว่าภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง ได้แนะนำไว้แล้ว โดยขอเน้นเรื่องการให้บริการประชาชน ทั้งในและนอกสถานีตำรวจ รวมทั้งด้านบุคลิกภาพ ให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ ประทับใจ ให้ยกระดับใน 7 ด้าน (1) บุคลิกภาพตำรวจ (2) ในสถานีตำรวจ : One Stop Service (3) นอกสถานีตำรวจ (4) งานป้องกันปราบปราม (5) งานสืบสวน (6) งานสอบสวน (7) งานจราจร โดยเน้นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน นำประชาชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในกิจการตำรวจ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสายตรวจร่วม การเป็นวิทยากรปรับบุคลิกภาพและทัศนคติ การใช้ความเป็นศิลปินดาราชักนำกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ ในส่วนผู้บังคับบัญชา ต้องเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา จัดหาสวัสดิการต่างๆ เช่น อาหารกลางวัน รับประทานอาหารกับผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างความสามัคคี และการทำงานเป็นทีม ด้านอาชญากรรมเน้นการป้องกัน ควบคุมคดีอาญา 4 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม 1 กลุ่ม 2 จะต้องมีการนำเอาข้อมูลทางคดีที่สามารถควบคุมได้ (Street Crime) มาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับแผนการจัดสายตรวจ วางมาตรการควบคุมอัตราการเกิด แต่หากเกิดคดีขึ้นแล้ว จะต้องติดตามจับกุมได้โดยเร็ว รวมทั้งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการป้องกันอาชญากรรม เช่น แอพพลิเคชั่น Police I lert u โดยมอบหมาย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้าน งานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ช่วยกันออกตรวจสอบ ติดตาม การทำงานของสถานีตำรวจ ทุกสถานีตำรวจ ให้เป็นไปตามนโยบาย ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ กำหนดเพิ่มเติม อย่างจริงจัง
สำหรับด้านการปราบปรามยาเสพติด ให้ทุกหน่วยเน้นระดมปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้อง กับขบวนการค้ายาเสพติด เน้นเป้าหมายเครือข่ายภายในหมู่บ้าน/ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว สถานบริการ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข และหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้มีการขยายผลทุกราย จากรายย่อยจนถึงรายใหญ่ ให้ถึงที่สุดของวงจรกระบวนการค้ายาเสพติด โดยใช้มาตรการยึด/อายัดทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.มาตรการ ปราบปรามยาเสพติด 2534 และ พ.ร.บ.ฟอกเงิน 2542
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานตามแนวนโยบายโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 72/2561 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งได้กำหนดให้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในระดับพื้นที่ ดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานตามโครงการฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามยุทธศาสตร์การป้องกันยาเสพติดของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ งานตามภารกิจของหน่วยงานตามแนวทางการยกระดับบริการประชาชนของสถานีตำรวจ และการสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานอื่น โดยการเข้าร่วม หรือให้การสนับสนุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ในภาพรวมของส่วนราชการอื่น