วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี แถลงข่าวงานสงกรานต์วิถีไทย สำราญใจวิถีมอญ

รองผู้ว่าฯปทุมธานี แถลงข่าว งานสงกรานต์วิถีไทย สำราญใจวิถีมอญ งานประเพณีสงกรานต์ ของจังหวัดปทุมธานี ได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันที่ ๑๐ – ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑

วันนี้ (3 เม.ย.61) เวลา 14.30 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า)นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานพิธีแถลงข่าวการจัดงานสงกรานต์วิถีไทย สำราญใจวิถีมอญ พร้อมด้วย นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นายขจรเกียรติ จินดาวรานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนเข้าร่วมพิธี

งานสงกรานต์วิถีไทย สำราญใจวิถีมอญ ๒๕๖๑ จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะเป็นจังหวัดที่มีกลุ่ม ชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่หลายกลุ่มชน อาทิ ไทยรามัญ ไทยจีน และ ไทยมุสลิม บรรดาลูกหลานของกลุ่มชนเชื้อสายต่าง ๆ ยังคงดำรงชีวิตตามรูปแบบเฉพาะของตนอยู่ โดยเฉพาะสามกลุ่มใหญ่ ๆ คือ “ชาวมอญ”ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่กันหนาแน่นในอำเภอสามโคก แต่ละกลุ่มชน มีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคม รวมถึงประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้สืบสาน และถ่ายทอดภูมิปัญญาสืบต่อกันมา จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ล้ำค่า และประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและ เกี่ยวพันกับวิถีชิวิตของชาวปทุมธานีมาอย่างยาวนาน ทางจังหวัดได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดงานที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงาม เพราะเทศกาลสงกรานต์ ไม่เฉพาะชาวจังหวัดปทุมธานีที่ให้ความสำคัญ แต่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ที่จะร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย ตามธรรมเนียมของแต่ละพื้นที่ สำหรับจังหวัดปทุมธานีของเรานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีชาวไทยเชื้อสายมอญมาตั้งหลักปักฐานกันตั้งแต่ในอดีต เราก็ได้เห็นการสืบทอดประเพณีมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ขบวนแห่ทางวัฒนธรรมจาก ๗ อำเภอ ขบวนแห่หางหงส์ธงตะขาบ ขบวนแห่ข้าวแช่ จากสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญ ขบวนแห่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เป็นการสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่โดดเด่น คือ การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ แต่มีเรื่องราวที่เราอยากนำเสนอในการจัดงานครั้งนี้ โดยจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับสมาพันธ์ชาวไทยเชื้อสายรามัญ ได้รวบรวมกลุ่มชาวบ้านจากหลายชุมชน ที่จัดเตรียมสำรับข้าวแช่ มาโชว์ มาสาธิต วิธีการทำข้าวแช่แบบวิถีมอญที่ถูกต้อง จนเรียกได้ว่าเป็นถนนข้าวแช่ ที่จะมีร้านข้าวแช่มากกว่า 20 ร้าน มีการจัดทำสำรับข้าวแช่ขนาดใหญ่ ที่เราได้ความร่วมมือจากพี่น้องชาวไทยรามัญ มาร่วมกันทำให้เกิดสำรับข้าวแช่ที่ใหญ่มาก และจัดปรุงตามธรรมเนียมประเพณีของชาวมอญอย่างแท้จริง ซึ่งแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจะได้ชม และ ชิม ข้าวแช่สูตรต้นตำรับชาวมอญ และได้ร่วมสืบสานประเพณีการส่งข้าวแช่พระสงฆ์ การส่งข้าวแช่พ่อเมือง นับเป็นประเพณีสำคัญของชาวมอญ ที่ปฎิบัติสืบทอดกันมา ในเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ภายในงาน ได้จำลองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไว้ในงานอีกด้วย

ประเพณีส่งข้าวแช่ ของชาวมอญนั้น ข้าวแช่เป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นภูมิปัญญารามัญเนื่องจากข้าวแช่เป็นอาหารในพิธีกรรมบูชาเทวดาของชาวมอญในเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นข้าวแช่คือข้าวแห่งเทศกาลของชาวมอญ ซึ่งในภาษามอญเรียกว่า “เปิงซังกรานต์” ประเพณีสงกรานต์ ในจังหวัดปทุมธานี จึงมีความเกี่ยวพันกันทั้งไทย และ มอญ การจัดมหกรรมปี่พาทย์มอญ และยังมีการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย และการประกวดธิดาไทย-รามัญ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑ ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า)

สมยศ แสงมณี ปทุมธานี ภาพ / ข่าว

Loading