นักวิชาการเรียกร้อง จนท.คุมเข้ม แว้นซ์วัยละอ่อน หวังลดตัวเลขความสูญเสีย
ในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียเยาวชน-คนรุ่นใหม่อนาคตของชาติ ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี กว่า 700 คน บาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นพิการกว่า 16,000 คน บาดเจ็บเล็กน้อยอีกนับแสนรายจากอุบัติเหตุทางถนน จากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง หากเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ แนวโน้มในอนาคตจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 30 ต่อปีอย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงประชุมวิชาการด้านความปลอดภัยทางท้องถนน ที่จัดขึ้นโดย มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย และสำนักข่าวอินเตอร์นิวส์ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก Bloomberg Initiative for Global Road Safety (BIGRS) และ Sidekick ณ I Resident Hotel Silom ได้มีการหยิบยก เหตุการณ์เด็กนักเรียนหญิง อายุ 12 ปี ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ขับขี่รถจักรยานยนต์มากับเพื่อนสองคนแล้ว ขับรถตัดหน้ารถแท็กซี่จนบังคับรถไม่ได้ พุ่งชนข้างทางจนเกิดชีวิตทั้งคู่ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กดูโทรศัพท์ในขณะขับรถไปด้วย
นายประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ นักวิชาการฝ่ายสื่อสารสาธารณะ ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพราะเด็กขาดวุฒิภาวะในการขับขี่ ทั้งที่ในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 122 ระบุว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยายนต์ แต่เหตุใดยังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวนมากสามารถมาขับขี่รถจักรยานยนต์ในท้องถนนได้ ซึ่งอาจเกิดความบกพร่องของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือไม่
นายประจวบ กล่าวอีกว่าหากมีความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายอย่างนี้ก็ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงตั้งคำถามว่าปัญหาที่ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่เกิดจากอะไร และหากต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ก็ควรที่จะหารือและร่วมกันปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ อีกส่วนหนึ่งก็เห็นใจในกรณีที่เด็กไม่มีรถรับส่งนักเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ผู้ปกครองจึงมีความจำเป็นในการอนุญาตให้เด็กสามารถขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียนได้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ก็เกิดการบังคับใช้กฎหมายได้ไม่เต็มที่ เพื่อต้องใช้วิธีอะลุ่มอะหล่วย
ขณะที่นายชาญณรงค์ สังข์อยุทธ นักสถิติศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยฯ เปิดเผยถึงสถิติการเสียชีวิตและเกิดอุบัติในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในปี 2559 ของศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต จำนวน 700 ราย บาดเจ็บ 15,800 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อยที่มีมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เกิดอุบัติเหตุมากถึงร้อยละ 50 ของการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ทั้งหมด
โดยกลุ่มนักวิชาการได้ร่วมกันเสนอทางออกให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง และเรียกร้องไปยังสถานศึกษาให้หาทางออกที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมกำชับใหคุมเข้มโดยเฉพาะช่วงเวลาก่อน เข้าเรียน และหลังเลิกเรียน ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าจะสามารถลดการสูญเสียในกลุ่ม เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ได้ถึงร้อยละ 65