วันศุกร์, 17 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา กระชับความร่วมมือมหาลัยฟู่หยิน นำ อจ-นศ.ฝึกประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรมจีน

29 เม.ย. 2018
33

มรภ.สงขลา กระชับความร่วมมือมหา’ลัยฟู่หยิน นำ อจ.-นศ. ฝึกประสบการณ์ เรียนรู้วัฒนธรรมจีน

มรภ.สงขลา กระชับความร่วมมือมหาวิทยาลัยฟู่หยิน ไต้หวัน นำอาจารย์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสองประเทศ พร้อมประยุกต์ใช้การเรียนการสอน
อ.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายการพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษา มรภ.สงขลา รวม 25 คน เดินทางไปฝึกประสบการณ์และเรียนรู้วัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยฟู่หยิน (Fooyin University) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ

ประเทศไต้หวัน มีความโดดเด่นด้านการพยาบาลและด้านอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และการจัดการ เป็นต้น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามโดยผู้บริหารจากทั้งสองสถาบัน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ในการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาระหว่างกัน โดยนายเชียง ลี ชอง คณบดีฝ่ายประสานงานต่างประเทศมหาวิทยาลัยฟู่หยิน ทำหนังสือเชิญให้ มรภ.สงขลา ส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 2018 Winter Camp Chinese and Culture Program ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่แล้วให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในด้านอื่นๆ ทั้งยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาและอาจารย์ได้เปิดโลกทัศน์ในต่างประเทศ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนและการทำงานได้

ดร.นิสิตา ฤทธาภิรมย์ ผู้ประสานงานกลางด้านต่างประเทศฯ ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสื่อสารและคมนาคม ตลอดจนการเปิดเสรีทางพรมแดนและการค้าขาย นำไปสู่สังคมที่ไร้พรมแดนและมีความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น สังคมยุคใหม่จึงมีความหลากหลายของประชากร ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ระบอบการปกครอง วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยมและวิถีการดำเนินชีวิต และมีการเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามขอบเขตของท้องถิ่นเดิมเพื่อหางานหรือท่องเที่ยวมากขึ้น โดยประเทศไทยมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและมีการคมนาคมที่สะดวกในการเดินทางข้ามสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน จึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เสมือนหน้าด่านที่รองรับการเคลื่อนย้ายของประชากร ดังนั้น การติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญกับทุกองค์กร เช่นเดียวกับที่ มรภ.สงขลา สร้างสัมพันธภาพกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศมาโดยตลอด

ทางด้าน น.ส.นิภาวรรณ ทองจินดา นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไต้หวันแล้ว ตนและเพื่อนๆ นักศึกษายังมีโอกาสได้เผยแพร่ความเป็นไทยโดยใช้ความสามารถทางด้านภาษาที่มี ซึ่งตนได้พูดถึงในหลวง ร.9 ที่ทรงสะสมพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ และพูดถึงความเป็นคนไทยที่แท้จริง การเดินทางไปไต้หวันครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ได้รับประสบการณ์ที่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการนำมาปรับใช้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะหากพิจารณาให้บริบทแต่ละพื้นที่ในโลกมีความแตกต่างกัน ฉะนั้น ไม่สามารถมานำใช้ทั้งหมดได้ จึงต้องเลือกเพียงบางส่วนมาและต้องรู้จักฝึกคิดต่อยอด

น.ส.ศจีวิมล ทิมกลับ นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวบ้างว่า ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นได้รับการดูแลเอาใส่ใจอย่างดี แม้กระทั่งเรื่องอาหารของนักศึกษามุสลิมและอาจารย์ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งในการเดินทางไปไต้หวันตนนำการแสดงรำมโนราห์ที่ไปเผยแพร่ด้วย เนื่องจากต้องการให้ชาวต่างชาติประจักษ์ถึงความอ่อนช้อยงดงามของศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านการเขียนอักษรจีน ด้านอาหาร รวมไปถึงได้เพื่อนใหม่ที่สามารถแลกเปลี่ยนภาษากันได้อีกด้วย

ส่วน นายวรวัฒน์ รอดพิบัติ นักศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครุศาสตร์ กล่าวว่า ตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคณะในการไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกคน สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการไปครั้งนี้คือ การต้อนรับและการดูแลอย่างทั่วถึงของอาจารย์และนักศึกษาประเทศไต้หวัน ซึ่งยากมากที่คนต่างเชื้อชาติมาพบกันและสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีขนาดนี้ พวกเขาใส่ใจรายละเอียดของทุกคนและคอยอำนวยความสะดวกทุกอย่าง นอกจากนั้น ตนและเพื่อนๆ ยังมีโอกาสเข้าเรียนร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยฟู่หยิน ทำให้ได้รู้ถึงกระบวนการสอนที่มีเทคนิควิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลาย มีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย

“นอกจากไปเรียนรู้แล้วพวกเรานำสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมไทย เช่น การไหว้ มโนราห์ ดิเกฮูลู รำไทย ไปเผยแพร่ด้วย ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและช่วยกันสอน ทำให้เกิดเป็นภาพแห่งความประทับใจ ซึ่งในทุกๆ วันที่เข้าเรียนมีการถอดบทเรียนทุกครั้งว่าได้รับอะไรบ้าง เพื่อนำมาพัฒนามหาวิทยาลัยของเรา สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา รองอธิการบดี อาจารย์จิรภา คงเขียว และกรรมการสอบสัมภาษณ์ทุกท่าน ที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับพวกเราทุกคน และขอขอบคุณอาจารย์ เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนสำหรับมิตรภาพดีๆ ที่คอยช่วยเหลือกันและกัน ที่ขาดไม่ได้คือ อาจารย์และเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยฟู่หยิน สำหรับการดูแลและการต้อนรับที่ดี หวังว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ต้อนรับการมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ มรภ.สงขลา บ้าง” นายวรวัฒน์ กล่าว

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา

Loading