ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษออกรายการสด Skype ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันออกรายการสด Skype ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT จังหวัดอุบลราชธานี เวลา 08.30- 09.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเชิญชวนให้ข้าราชการและประชาชนได้เที่ยวชมและชิมทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ในระหว่างวันที่ 28 มินายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 นี้ ณ.บริเวณสวนปาล์มวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มมีการปลูกไม้อย่างจริงจัง เมื่อปีพ.ศ 2531 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ นิยมปลูกทุเรียน พันธุ์หมอนทอง ปัจจุบันมีพื้นที่ ปลูกจำนวน 6,085 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกที่อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตน์ สามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษปีละประมาณ 47 ล้านบาท นอกจากนี้จังหวัดศรีสะเกษยังมีพื้นที่ปลูกผลไม้เศรษฐกิจอีกหลายชนิด เช่น ลำไย มังคุดและลองกอง และผลผลิตทุเรียนศรีสะเกษ เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค มากยิ่งขึ้นในทุกๆปี เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะของทุเรียนศรีสะเกษที่มีความแตกต่างจากผลผลิตทุเรียนแหล่งอื่นๆ ประกอบกับการประชาสัมพันธ์สร้างชื่อเสียง การรับรู้ การสร้างบอดี้ของจังหวัด โดยเน้นกระบวนการสื่อสาร กับผู้บริโภคโดยตรง ผ่านทางรายการโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมไปถึงการจัดเงาะเทศกาลเงาะทุเรียนของดีศรีสะเกษ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันรวม 24 ปีแล้ว จึงทำให้ทุเรียนภูเขาไฟเป็นที่รู้จักทั่วไปของผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษมีราคาสูงขึ้น สร้างคุณค่าให้กับเกษตรกรผู้ผลิตโดยแท้จริง
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของที่มาของทุเรียนภูเขาไฟนั้น ทุเรียนภูเขาไฟ คือกลยุทธ์ของการตลาดที่ทำให้ทุเรียนมีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยคุณสมบัติเด่น ของแหล่งปลูกทุเรียน ในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นดินผุพังมาจากหินบะซอบล์ มีลักษณะเป็นดินเหนียวสีแดงระบายน้ำดีมาก มีธาตุอาหารชนิดต่างๆที่จำเป็นต่อทุเรียนในปริมาณสูง และเกษตรกรใช้น้ำใต้ดินที่มีความลึกกว่า 50 – 100 เมตร ในการใช้น้ำรดทุเรียน จึงส่งผลทุเรียนให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน มีรสชาดดี นอกจากนี้ ลักษณะภูมิภาคภูมิอากาศของจังหวัดศรีสะเกษ ไม่ชื้นจนเกินไป มีแสงแดดเข้ม แสงสูง ทำให้พืชได้รับแสงอย่างเต็มที่ ทุเรียนจึงดึงดูดธาตุอาหารจากดินมาช่วยสงเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่ เนื้อทุเรียนอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ สารอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก มีคุณสมบัติ เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียวเส้นใยละเอียดมีกลิ่นหอม ไม่ฉุนมาก รสชาดมัน ค่อนข้างหวานน้อย ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่าทุเรียนศรีสะเกษเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
บุญทัน ธุศรีวรรณ ข่าว/ภาพ