อาชีวะหลอมรวมนักศึกษาใหม่ ปลุกจิตสำนึกสร้างพลังบวก ยึดหลักศาสนานำทาง
ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอม สถาบันการศึกษาเตรียมการรับนักศึกษา ปฐมนิเทศ จัดกิจกรรม เพื่อสร้างความประทับใจ ให้กับเฟรชชี่น้องใหม่ และสร้างสำนึกเป็นหนึ่งเดียว กิจกรรมดีๆ แบบนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) นครศรีธรรมราช ดำเนินการมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมสุดฟินแบบนี้ ทีมประชาสัมพันธ์สอศ.ไม่พลาดแน่นอน ต้องไปเรียบ ๆ เคียง ๆ ถามไถ่เจ้าบ้านนายสุรพล โชติธรรมโม ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) นครศรีธรรมราช ซึ่งผอ.บอกเล่าด้วยใบหน้าอิ่มเอมว่า “วอศ.นครศรีธรรมราช มีนโยบายในการจัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษาใหม่ทุกคนร่วมกันปฏิบัติธรรม เสริมสร้างพลังบวก โดยใช้แนวทางวิถีธรรมวิถีไทยภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อให้เยาวชนนำหลักธรรมในศาสนามาปรับใช้ในการศึกษามุ่งสู่ความสำเร็จ พร้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งกิจกรรมนี้วิทยาลัยฯ จัดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
เป็นการปลูกจิตสำนึก ความเข้าใจ หลักธรรม คำสอน ในทุกศาสนา การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 – 6 พฤษภาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,900 คน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระนคร วัดชายนา วัดประดู่พัฒนาราม และโรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์”
มาฟังเสียงบรรดาเฟรชชี่กันดีกว่าว่าจะฟินขนาดไหน เริ่มต้นที่ “กอล์ฟ” นายกฤษฎา จันจาลักษณ์ สาขาวิชาภาษาต่างประเทศธุรกิจ ปวส. 1 เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “กิจกรรมบวชบรรพชาสามเณรนี้ เคยเข้าร่วมมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และจัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวผู้บวชเองต้องปลงผม โกนหนวด โกนเครา ตัดเล็บมือเล็บเท้า ดูแลตัวเองให้สะอาด ที่สำคัญในวันบวชต้องว่าไตรสรณคมน์ให้ชัดถ้อยชัดคำ เพราะความเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ด้วยไตรสรณคมน์ การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ได้สนองพระคุณบิดา มารดา ที่ว่าบวชลูกแล้วจะได้บุญกุศลมาก ผู้บวชก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับหลักธรรม คำสอนทางศาสนา รวมทั้งเป็นการฝึกพัฒนาตนเองในด้านความประพฤติทางกาย วาจา และจิตใจ สามารถใช้หลักธรรม คำสอน เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต การเรียน หรือตัดสินใจเรื่องต่างๆ ส่งผลให้อยู่ร่วมกันในรั้ววิทยาลัยได้อย่างมีความสุข เพราะต่างคนมาจากต่างที่ต่างสถาบัน”
ตามด้วยหนุ่มยุค 4.0 ดีกรีรางวัลพระราชทาน “ไปร์ท” นายวรรธนะ ช่วงชัย สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ปวส.1 ขอแชร์ประสบการณ์ว่า “ประทับใจมาก และรู้สึกดีมากๆ ไม่เคยนึกว่าจะได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ นักศึกษาชายที่เป็นพุทธศาสนิกชนทุกคนมารวมตัวกันเพื่อบรรพชา เป็นกิจกรรมที่มีความยิ่งใหญ่ และรู้สึกภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชายสามารถทดแทนคุณบิดา มารดา ที่ท่านเลี้ยงดูมาโดยทำให้ท่านมีความสุข ได้รับบุญกุศลที่เราปฏิบัติ ได้เห็นน้ำตาแห่งความสุข ตัวเราจะมีศีลธรรมอยู่ในใจ มีสติ จิตใจสงบนิ่งมากขึ้น รู้คิด รู้จักวางตัว และเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ที่ต้องช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้ธำรงอยู่สืบไป รวมทั้งได้หล่อหลอมจิตใจก่อนเข้าเป็นลูกพระแม่นพมาศ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวิทยาลัยที่จะคอยปกปักรักษาเรา”
มิใช่แต่การบรรพชาสามเณรเท่านั้น วิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับศาสนาอื่น โดยน้องใหม่ “เจมส์” นายภัทรษกรณ์ นะละกาญจน์ สาขาการตลาด ปวส. 1 หนุ่มมาดขรึม ที่บอกเล่าอย่างสุขุมว่า “ก่อนเริ่มเปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับวิทยาลัยและตัวนักศึกษาเอง ทั้งยังให้นักศึกษาใหม่ได้ตระหนักรู้ในศาสนามากขึ้น รู้จักที่จะฝึกความอดทน ด้วยต่างคนเป็นเด็กที่มาจากต่างถิ่น ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันในรั้วเดียวกัน ต้องรู้จักฝึกความอดทน ฝึกจิต รู้จักการแบ่งปัน มีจิตสำนึกที่ดีเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบ และสามัคคี ซึ่งการเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมไม่มีอะไรมาก เพียงเตรียมตัวเอง เตรียมใจรับสิ่งใหม่ๆ ให้พร้อม ด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่น เพียงเท่านี้ ก็จะสามารถดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังได้ฝึกสมาธิ ฝึกความตั้งใจ ความอดทน ในศาสนาอิสลามจะทำการละหมาดถึง 5 เวลาด้วยกัน ตั้งแต่ ตีห้า เที่ยง สี่โมงเย็น หกโมงเย็น และสองทุ่ม ซึ่งผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องทำทุกวัน แต่ละครั้งในการทำละหมาดต้องใช้สมาธิ ความตั้งใจในการสงบนิ่ง 10 นาที และทำพิธีตามผู้นำศาสนา ทำให้ผู้ปฏิบัติสบายใจ มีความสุข และได้รับรู้ เข้าใจในหลักศาสนาที่เราไม่ค่อยจะตระหนักรู้สักเท่าไร ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถทำให้เยาวชนหันมาสนใจศาสนามากขึ้น เพราะศาสนา คือ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ใช่เฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมของวิทยาลัย หรือการรวมตัวในงานอิสลามประจำปีเท่านั้น”
ตามติดด้วยสาวหน้าใส “นุช” นางสาวเกวลิน ใจเรือง สาขาการบัญชี ปวส. 2 รุ่นนิ (รุ่นพี่) ขอร่วมแจมกับรุ่นน้องร่วมพระอัลเลาะห์ ว่า “ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมและเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายจริยธรรมตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งมีต่อเนื่องทุกปี เพราะเห็นว่าสถาบันการศึกษาสามารถส่งเสริม คุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างปัญญาให้กับผู้เรียนอาชีวศึกษา ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ และกล้ารับผิดชอบด้วยตัวเอง ทั้งยังได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบันที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในค่ายกิจกรรม 3 วัน 2 คืนทำให้รู้จักการเสียสละ มีภาวะผู้นำ มีความรักและเคารพ ให้เกียรติ ยอมรับในความคิดเห็นผู้อื่น ทั้งนี้ ทำให้รู้ถึงหลักคำสอนของศาสนา ในหลักของพระอัลเลาะห์ คือ การปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฏอน การบริจาคซะกาต หรือการบริจาค สิ่งของ เงินทอง ให้กับผู้ยากไร้ หลังเสร็จสิ้นการถือศีลอด ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ และการทำฮัจย์ และการปฏิบัติตนในการใช้ชีวิตประจำวันในทางที่ถูกต้อง เกิดความสุขทั้งกายและใจ”
ต่อด้วย “ถุงแป้ง” นางสาวปัญณิกา สุขศรีนวล สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ปวส. 2 รุ่นพี่ยุค 4.0 เล่าอย่างมีภูมิรู้ในฐานะพี่เลี้ยงผู้ผ่านกิจกรรมการบวชเนกขัมมะนารีมาก่อนว่า “เนกขัมมะนารี เป็นการบวชที่ผู้บวชจะต้องถือศีล 8 ไม่ปลงผม ปฏิบัติชั่วคราว มีกำหนดวันในการเข้าปฏิบัติธรรม และจะต้องนั่งภาวนาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เมื่อแรกเข้าร่วมกิจกรรม ครั้งแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมในฐานะนักศึกษาใหม่ คิดเพียงให้เสร็จสิ้นกิจกรรม เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนที่ทำอะไรตามใจตัวเอง แต่พอเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกลับรู้สึกชอบ มองเห็นประโยชน์ เพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเยาวชน พัฒนาจิตใจ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และทำให้เป็นคนมีศีลธรรม มีสุขภาพจิตที่ดี ตามหลักพุทธศาสนา มีทักษะที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียน ทำให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ มีความสุข มีการพัฒนาการทางกายที่แสดงออกทางกริยามารยาทที่เหมาะสมงดงาม และสุดท้ายก็ส่งผลไปยังการพัฒนาปัญญา ให้รู้คิด วิเคราะห์ รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันอารมณ์ รู้วิธีการป้องกัน และแก้ไขปัญหา สร้างภูมิต้านทานให้กับตนเองด้วยคุณธรรม นำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ เป็นการอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อน สังคม ด้วยความเกื้อกูล ซื่อสัตย์สุจริต เป็นความภูมิใจที่จับต้องไม่ได้ แต่สัมผัสได้ด้วยความความสุขใจ ได้รับความเคารพนับถือในฐานะพี่ที่ดูแลน้องๆ ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ และอยากให้น้องๆ ทำใจให้บริสุทธิ์ พร้อมที่จะเรียนรู้พิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนา การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น งดใช้เครื่องหอม งดการใช้ระบบสื่อสารทุกรูปแบบ งดรับประทานอาหารหลังเที่ยง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้อย่างชิว ชิว ไม่มีสิ่งใดที่เกินกำลัง ความสามารถ”
ปิดท้ายที่ “แป้ง” นางสาวสลิลทิพย์ ทองแสง สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ปวส. 2 การันตีด้วยตำแหน่งนายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) วอศ.นครศรีธรรมราช และเลขานุการ อวท.ระดับชาติ บอกเล่าในฐานะผู้นำนักศึกษาว่า “กิจกรรมที่วิทยาลัยจัดขึ้นสำหรับนักเรียน นักศึกษาใหม่ ก่อนเข้าศึกษา เป็นกิจกรรมที่บ่มเพาะจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งทางด้านวิชาการ ด้านร่างกาย และสติปัญญา หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง ซึ่งเห็นได้จากกิจกรรมที่จัดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีการติดตามผลดูรายละเอียดของน้องๆ ที่ผ่านมาทั้ง 3 กิจกรรม ร้อยละ 98 น้องๆ ต้องการให้มีกิจกรรมดีๆ แบบนี้ตลอดไป และสำหรับบางคน ยังคงกลับไปเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมอยู่ด้วยเป็นการส่วนตัว”
ทีมประชาสัมพันธ์ สอศ. รู้สึกปลาบปลื้มจริงๆ กับกิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆ เยี่ยงนี้ ออเจ้าทั้งหลายได้พบความประทับใจกับกิจกรรมแรกเข้าศึกษาในรั้วอาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นพลังบวก ผลักดันออเจ้าสู่การเป็นคนมีคุณภาพ บัณฑิตที่มีคุณค่า ขอปรบมือรัวนะขอรับ
สมยศ แสงมณี / รายงาน