วันพุธ, 25 ธันวาคม 2567

สรงนำ้เจ้าแม่อยู่หัว ในงานตายายย่านประเพณีเฉพาะถิ่นชาวบ้านท่าคุระ

ชาวบ้านท่าคุระ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา และประชาชนต่อแถวยาว เพื่อสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ในงานตายายย่านประเพณีเฉพาะถิ่นของชาวบ้านท่าคุระ

บรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว ภายในวัดท่าคุระ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับลูกหลานชาวท่าคุระและประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาเจ้าแม่อยู่หัว ต่างถือดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ทองคำเปลว และน้ำอบ ต่อแถวรอคิวยาวเพื่อรอสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง โดยวันพุธแรกของข้างแรม เดือน 6 จะอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัว พระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สูงประมาณ 2.5 เซนติเมตรจาก ผอบ(ผะ-อบ) มาประดิษฐานไว้ที่สำหรับสรงน้ำ ภายในมณฑปและเปิดให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาเจ้าแม่อยู่หัวนำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ทองคำเปลว และน้ำอบ สรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2561 เป็นเวลา 3 วัน

ประเพณีงานตายายย่าน จะมีการสมโภชโดยการรำโนราโรงครู ตามแบบฉบับดั้งเดิม คือ ต้องเลือกสถานที่ปลูกสร้างโรงรำให้ถูกทิศ มีศาล และเครื่องเซ่นบวงสรวงครบถ้วน เริ่มด้วยการตั้งเครื่องโหมโรง ประกาศเชิญราชครู รำเบิกโรง รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ รำแทงเข้ ขณะเดียวกันช่วงนี้จะถือการแก้บนเป็นสำคัญลูกหลานของเจ้าแม่อยู่หัว ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันรำแก้บนในโรง เช่นใครที่บนว่าจะรำเป็นพราน ก็เอาหัวพรานมาสวมแล้วรำ สำหรับโนราโรงครูจะรำต่อเนื่องกัน 3 วัน 3 คืน เริ่มวันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ นอกจากนี้ ยังมีการบวชพระ บวชชี บวชชีพราหมณ์ เพื่อเป็นการแก้บนเจ้าแม่อยู่หัวหลังจากที่ได้บนบานศาลกล่าวและประสบความสำเร็จอีกด้วย

งานสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว ในงานตายายย่านประเพณีเฉพาะถิ่นของชาวบ้านท่าคุระ ยังเป็นการให้บุตรหลานของชาวบ้านท่าคุระ ได้กลับมาพร้อมกัน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของตน และร่วมสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านของท้องถิ่น

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์/หาดใหญ่/สงขลา

Loading