วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

เกษตรจังหวัดนครราชสีมา แถลงผลการดำเนินงาน โครงการ 9101

09 พ.ค. 2018
32

เกษตรจังหวัดนครราชสีมาแถลงผลการดำเนินงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560

วันนี้ (9 พ.ค. 61) เวลา 10.00น. นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา แถลงผลการดำเนินงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานตามโครงการ 9101ฯ ในโอกาสกรมส่งเสริมการเกษตรครบ 50 ปี

นายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินงานโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 ให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือน หลังน้ำลด อันเป็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ และฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2560 และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ หรือเรียโดยย่อว่า “ก.ช.ภ.อ.” โดยใช้แนวทางการดำเนินงานตามโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจังหวัด

นครราชสีมาเป้าหมาย 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่ บ้านเหลื่อม เทพารักษ์ ด่านขุนทด บัวลาย สีดา โนนแดง ประทาย พิมาย ชุมพวง เมืองยาง และแก้งสนามนาง เกษตรกร 9,987 ราย พื้นที่เสียหายด้านพืช 100,474.5 ไร่ คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดจากพายุ เซินกาและตาลัส ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 และต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.)ประเภทกิจกรรมสามารถดำเนินการได้ทันที ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีประโยชน์กับชุมชน และมีความยั่งยืน โดยผลการดำเนินโครงการในอำเภอ 12 อำเภอ 82 ชุมชน ซึ่งชุมชนเสนอขอโครงการจำนวน 294 โครงการ งบประมาณ 49,935,000 บาท แยกโครงการออกเป็น 4 ประเภท คือด้านการปลูกพืชอายุสั้น จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 5,170,000 บาท (ร้อยละ 10) ,ด้านการเลี้ยงสัตว์ จำนวน 163 โครงการ วงเงิน 35,025,000 บาท (ร้อยละ 70) ,ด้านการผลิตอาหาร จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 375,000 บาท (ร้อยละ 1) และด้านการประมง จำนวน 84 โครงการ วงเงิน 9,365,000 บาท (ร้อยละ 19) ซึ่งทั้งหมดผ่านความเห็นชอบจาก CBO และผลการเบิกจ่ายจำนวน 49,855,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 99.84 จำนวนเงินงบประมาณคงเหลือ 80,000 บาท และคณะกรรมการระดับชุมชนได้ดำเนินการนำส่งเงินคงเหลือคืนสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อส่งคืนกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว จำนวน 80,000 บาท โดยทุกโครงการไม่พบการทุจริตแต่อย่างใด

สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ คือเกษตรกรรับประโยชน์จากโครงการ จำนวน 11,894 ราย จาก 9,971 ครัวเรือน โดยเฉลี่ยเกษตรกร ในชุมชนได้รับประโยชน์เฉลี่ย 145 ราย/ชุมชน โดยที่เกษตรกรในชุมชนไม่น้อยกว่า 9,971 ราย มีแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการผลิตพืช ผลิตสัตว์ ประมง และสินค้าในชุมชน มีการกระจายรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 94 มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอาชีพเสริมและรายได้จากการจำหน่าย

ผลผลิตทางการเกษตร มีอาหารบริโภคในครัวเรือนหลังน้ำลดไม่น้อยกว่าร้อยละ 89 (จากโครงการที่ดำเนินการ) กลุ่มเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้เรียนรู้และสามารถนำไปต่อยอด ให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้ร้อยละ 60 นอกจากนี้ เกษตรกรยังเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ มีการบริหารกลุ่มให้เกิดความยั่งยืน มีการบริหารกลุ่มชุมชนให้มีรายได้มากขึ้นมีกองทุนหมุนเวียนของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มชุมชนสามารถต่อยอดโครงการได้เมื่อสิ้นสุดโครงการก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เกิดจากการที่เกษตรกรในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ เกิดแนวคิด ร่วมคิดร่วมดำเนินการ ร่วมตัดสินใจ ร่วมจัดทำโครงการจนประสบผลสำเร็จ

ภาพ-ข่าวสันติ วงษาเกษ จ.นครราชสีมา

Loading