พะเยา – พิพิธภัณฑ์ผ้ายันต์ล้านนาหนึ่งเดียวในประเทศไทย เผยฝรั่งแห่กว้านซื้อแถมถูกเผาทิ้ง ต้องเร่งอนุรักษ์ก่อนสูญหาย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการควานหาซื้อผ้ายันต์ของชาวต่างชาติในเขตจังหวัดทางภาคเหนือ ในราคาที่สูง จึงทำให้ผ่ายันต์ต่างๆที่ปู่ย่า ตายายได้ทิ้งไว้ให้ลูกหลานคนล้านนาถูกนำไปขาย ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อที่ผิดๆว่า ถ้าเป็นผ้ายันต์หรือเครื่องรางที่ตกมาจากรุ่นปู่ย่า ตายาย ไม่ควรเก็บไว้เพราะอาจจะนำความเดือดร้อนมาให้เนื่องจากอาจบารมียังไม่ถึงที่จะครอบครอง จึงมีการเผาทิ้งไปพร้อมกับร่างผู้เสียชีวิต

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
พระครูปลัด สุวัฒนจริยคุณ ดร. เจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม ( วัดสบเกี๋ยง ) อ. ปง จ.พะเยา ประธานเครื่อข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ ได้เล็งเห็นอันตรายที่จะเกิดการสูญหายของผ้ายันต์ซึ่งเป็นมรดกของชาติโดยเฉพาะของทางภาคเหนือ จึงได้พยายามรวบรวมผ้ายันต์จากแหล่งต่างๆทั้งในจังหวัดพะเยาและภาคเหนือทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองขุนควรในวัดธรรมิการาม โดยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อเด็กเยาวชนรุ่นหลังๆได้เรียนรู้ศึกษาประวัติความเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่กำลังจะเริ่มสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ผ้ายันต์ที่เก็บรักษาไว้มีกว่า 200 ผืน โดยมีอายุต่ำสุดประมาณ 50-70ปี และมาสุดประมาณ 100ปี ขึ้นไป สภาพผ้ายันต์ที่พบส่วนใหญ่ทำจากผ้าดิบ ลวดลายอักษรเมืองเขียนด้วยหมึกสักและสีของพืชตามธรรมชาติ เช่นสีดำ แดง และเขียว ผ้าแต่ละผืนอยู่ในสภาพวาดวิ่นด้วยความเก่า และถูกของมีคม ซึ่งคาดว่าผู้สวมใส่อาจจะถูกฟันด้วยดาบหรือมีด เพราะยังมีรอยเลือดติดอยู่ ในขณะที่บางส่วนเป็นรูพรุนคล้ายถูกยิงด้วยกระสุนปืนคาบศิลาหรือปืนแก๊ป ซึ่งทางเหนือเรียกว่า ” ลูกกำผาย ”
“ อาตมาหวังว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะสามารถสร้างความตระหนักนึก ในการหวงแหนรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนาให้กับยุวชน เยาวชน ตลอดจนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ศิลปวัฒณธรรมอันเป็นรากเหง้าของตนเอง และมีการอนุรักษ์สืบสานต่อไป “ พระครูปลัด สุวัฒนจริยคุณ ให้สัมภาษณ์
(ภาพ/ประดิษฐ์ พอใจ ข่าว/จ.ท.สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )