ชาวบ้านท่าแลง เดือดร้อนหนัก บุกยื่นหนังสือ อำเภอท่ายาง และ ปปช.เพชรบุรี ตรวจสอบบ่อขยะ โรงงานขยะ และ บ่อลูกรัง ในพื้นที่ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง ดำเนินการโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 28 มิถุนายน ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านท่าแลง หมู่ที่ 7 บ้านเขาปากช่อง หมู่ที่ 8 บ้านหนองน้ำถ่าย และหมู่ที่ 9 บ้านลุ่มสมอ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง กว่า 200 คน นำโดย นายอนุวัตเวชสว่าง อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ ๙ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง เดินทางมาที่ที่ว่าการอำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรีหนังสือร้องเรียนต่อนายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอท่ายาง เพื่อสอบถามและให้ดำเนินการกับการกระทำผิดในเขตบ่อขยะที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาสร้างโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า บริเวณเชิงเขา หมู่ 7 บ้านเขาปากช่อง ต.ท่าแลง โดยมีว่าที่ร้อยตรี บุญชู ไตยทิพย์พานิชย์ ปลัดอาวุโสอำเภอท่ายาง และจ่าสิบเอกโกสินทร์ เฉียบเเหลม ปลัดอำเภอท่ายางหัวหน้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่ายาง เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียน พ.ต.อ.อาชวิน บุญธรรมเจริญ ผกก.สภ.ท่ายาง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่ายาง
เอกสารร้องเรียนสรุปได้ว่าขอให้อำเภอท่ายางตรวจสอบ กรณีมีการกระทำผิดในการขนย้ายขยะจาก จ.ชุมพรเข้ามาทิ้งในช่วงกลางคืนของทุกวัน เนื่องจากก่อนหน้านี้นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง เคยกล่าวอ้างว่ายังไม่มีการอนุญาตให้นำมาทิ้ง และสอบถามความคืบหน้าการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ที่ปล่อยน้ำเสียของบ่อขยะทิ้งลงสู่คลองชลประทาน เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ด้าน นางวันวิสา จันทร์ชัง อายุ 19 ปี ชาวบ้าน หมู่ 5 บ้านห้วยตะเเกละ ต.ท่าแลง ซึ่งอุ้มบุตรสาววัย 8 เดือน มาร่วมร้องเรียนด้วย กล่าวว่า บ่อขยะสร้างความเดือดร้อนให้กับตนและครอบครัวมาก นอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนแล้ว ยังสร้างมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้บุตรสาววัย 8 เดือนมีอาการไอ และหายใจติดขัดด้วย เบื้องต้น ว่าที่ ร.ต.บุญชู จะรายงานให้นายอานนท์ พร้อมเพรียง นายอำเภอท่ายางทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ต่อมาเวลา 10.30 น.วันเดียวกัน นายอนุวัต และชาวบ้านกว่า 200 คน เดินทางมาที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดเพชรบุรี ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อนายพุทธา ศรีคำภา ผอ. ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ทำการตรวจสอบการประกอบกิจการในเทศบาลตำบลท่าแลง โดยให้ตรวจสอบการประกอบกิจการบ่อขยะและโรงงานผลิตไฟฟ้า เนื่องจากพบว่ามีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่นเหม็นจากกองขยะ และการไหลซึมของน้ำเสียโดยพบว่าบ่อบาดาลที่หมู่ 7 บ้านแม่เบื้อบางแห่งเน่าเสียใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าปล่อยไว้จะก่อให้เกิดปัญหาขยายเป็นวงกว้าง ยากต่อการแก้ไข จึงสมควรให้ปิดบ่อขยะเพื่อเป็นการขจัดปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านทั้งปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้พื้นที่เทศบาลตำบลท่าแลงเป็นพื้นที่สีเขียวชาวบ้านในเทศบาลตำบลท่าแดงประกอบอาชีพเขตเกษตรกรรมเกือบ 100% เขาปากช่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ่อขยะ เปรียบเสมือนเป็นป่าต้นน้ำ และเป็นที่สูงน้ำเสียจากบ่อขยะส่งผลกระทบในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้
ทั้งนี้ในเอกสารดังกล่าวยังระบุข้อพิรุธที่เป็นเหตุขอให้ตรวจสอบว่า การทำประชาพิจารณ์ เป็นการกระทำโดยมิชอบและไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และพบว่าพื้นที่การก่อสร้างโรงงานมีการสร้างรุกป่าไม้ตาม พรบ.ป่าไม้ 2484 อีกทั้ง การได้มาซึ่งใบอนุญาตการก่อสร้างโรงงานเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุร้องให้ตรวจสอบการประกอบกิจการบ่อลูกรังในผืนป่าเขาปากช่องซึ่งระบุว่ามีการดำเนินการมากว่า 40 ปี ทำให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติทำลายสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ตรวจสอบ การตัดถนนสาธารณะสายเขาปากช่องห้วยตะแกละ หายไปกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งเคยมีการดำร้องร้องดำเนินคดี ขอให้มีการตรวจสอบว่ามีการบุกรุกและถือครองป่าสงวนตาม พรบ. 2507 หรือไม่ มีการบุกรุกและถือครองป่าสงวนตาม พรบ. 2484 หรือไม่ มีการนำขยะไปทิ้งในบ่อลูกรังโดยผิดกฎหมายหรือไม่ มีการขุดตักลูกรังรอบภูเขาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นการลิดรอนสิทธิผู้อื่นหรือไม่ การขุดล้อมรอบภูเขามีเจตนาที่จะยึดภูเขาเป็นตัวของตนเองหรือไม่ และการขุดลูกรังจนลึกถึงชั้นบาดาลเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ยังขอให้ตรวจสอบการยึดครองที่ดินนับพันไร่ว่าได้มาโดยชอบด้วยหรือไม่ และมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ป่าสงวนและป่าไม้ตามพรบ.ป่าไม้ 2484 หรือไม่
เบื้องต้น นายพุทธา ศรีคำภา ผอ. ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเพชรบุรี ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้ และจะทำการตรวจสอบว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดซึ่งอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ ป.ป.ช.ควบคุมดูแลหรือไม่เพื่อดำเนินการต่อไป
///ทีมข่าว จ.เพชรบุรี