วันอังคาร, 14 มกราคม 2568

รองผู้ว่าฯชลบุรี เปิดงาน สับปะรดหวานฉำ่ ของดีศรีราชาครั้งที่ 2

รองผู้ว่าฯ ชลบุรี เปิดงาน “สับปะรดหวานฉ่ำ ของดีศรีราชา ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักสับปะรดของศรีราชา ที่มีรสชาติหวานฉ่ำ เพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (2 ก.ค.61) นายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “งานสับปะรดหวานฉ่ำ ของดีศรีราชา” ครั้งที่ 2 โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา, นางปัทมา วิวัฒน์วานิช นายกกิ่งกาชาดอำเภอศรีราชา หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนจำนวนมากร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า หากพูดถึงสับปะรด ชื่อสับปะรดศรีราชา จะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาเกือบร้อยปี นับตั้งแต่ท่านเจษฎาธิการเทโอฟาน (ชิน บุญยานันท์) อธิการคนแรกของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ได้นำพันธุ์สับปะรดเข้ามาทดลองปลูกและเผยแพร่ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่รกร้างของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เพื่อก่อให้เกิดรายได้มาใช้ในกิจการการศึกษา

โดยผลผลิตจะมีผลมากกว่าสับปะรดพื้นบ้าน 4-5 เท่า เมื่อเวลาแก่จัดสีออกไปทางม่วงๆ และผลสุกหรืองอมจะเป็นสีเหลือง รสหวานฉ่ำ ซึ่งได้รับความนิยมและมีราคาแพงมากในสมัยนั้น บางลูกหนักถึง 5 กิโลกรัม แต่ละลูกมีการประทับตรา เอซี ซึ่งเป็นอักษรย่อของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ไว้ที่ขั้วสับปะรด บางคนจึงเรียกสับปะรดนี้ว่าสับปะรด เอซี ต่อมาท่านได้จัดจำหน่ายหน่อสับปะรดด้วย มีผู้มาซื้อหาไปปลูกเพราะได้ราคาดี จนแพร่หลายไปทั่วศรีราชา กลายเป็นสับปะรดศรีราชามีชื่อเสียงโด่งดังตราบเท่าทุกวันนี้

นายนิติ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นทางอำเภอศรีราชาได้ร่วมปรึกษาหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดงานสับปะรดศรีราชาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตชุมชน ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมชุมชน 2.เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี สมานฉันท์ความปรองดอง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน 3.เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และ 4.เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี

ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การประกวดสับปะรดพันธุ์ดี, การประกวดมะพร้าวอ่อนน้ำหอม, การแข่งขันการทำสับปะรดกวน, การแข่งขันการทำแกงคั่วสับปะรด, การแข่งขันส้มตำลีลา, การแข่งขันการกินสับปะรด, การประกวดกองเชียร์, การประกวดธิดาสับปะรดศรีราชา และการประกวดหนูน้อยสับปะรด เป็นต้น

ด้านนายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตนต้องการให้อำเภอศรีราชา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันรณรงค์ เพื่ออนุรักษ์สับปะรดศรีราชา ให้คงอยู่ตลอดไป และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรยึดมั่นในวิถีชุมชนแบบเดิมที่เคยทำกันมาตั้งแต่ดั่งเดิม ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันอุดหนุนสับปะรดของศรีราชา ให้มีชื่อเสียงเช่นนี้ตลอดไป

ปัจจุบันยังมีในหลายพื้นที่ในอำเภอศรีราชา ยังปลูกสับปะรดกันอยู่ เช่น ต.หนองขาม, ต.เขาคันทรง, ต.บางพระ, ต.ศรีราชา รวมแล้วนับ 10,000 ไร่ และหากได้รับความสนใจและสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ กลุ่มเกษตรกรก็จะหันมาปลูกสับปะรด และไม่ขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อไปก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ภาพ/ข่าว สมชาย แก้วนุ่ม
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์
รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

Loading