วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้อง 115 โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานความร่วมมือบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างยั่งยืน 10 หน่วยงาน และหน่วยงานสังกัดในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงานในครั้ง
โดยโครงการดังกล่าวฯ จัดขึ้นเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการเพิ่มโอกาสให้เกิดฝน ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนการปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต และการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน โดยมีการดำเนินการในโครงการฯ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
– กิจกรรมพิธีเปิด ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ณ บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และกิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 5 ภูมิภาค
– กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2561 โดยเป็นการปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และการปลูกไม้โตเร็วตามหัวไร่ปลายนาร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน สำหรับในปี 2561 มีพันธุ์ไม้ที่ใช้ในโครงการ จำนวน 14 ชนิด ได้แก่ ประดู่, ตะเคียน, ยางนา, มะขามป้อม, ขนุน, ชมพู่, มะม่วง, มะค่า, พะยูง, เต็ง, รัง, แดง, ประดู่ และรวงผึ้ง ในพื้นที่ 132 ไร่ ทั่วประเทศ
– กิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2561 ดำเนินการหลังการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน โดยเลือกพื้นที่การโปรยเมล็ดพันธุ์ในบริเวณ ป่าเสื่อมโทรมและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยในปี 2561 กำหนดพื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์ จำนวน 15,000 ไร่ และใช้ชนิดเมล็ดพันธุ์ จำนวน 11 ชนิด 2,000 กิโลกรัม ได้แก่ แดง, ประดู่ป่า, ไผ่รวก, สมอพิเภก, มะขามป้อม, มะค่าโมง, มะค่าแต้, สมอไทย, สัก, สาธร และสีเสียด
ทั้งนี้ กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำ Application ระบบติดตามการปลูกต้นไม้ “Collector for ArcGIS” เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว อีกทั้งเพิ่มความสะดวกในการติดตามข้อมูลการปลูกต้นไม้ และพื้นที่ปลูกต้นไม้ อาทิ พื้นที่ปลูก ชื่อผู้ปลูก ชื่อต้นไม้ และการดูแลรักษา ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิผลในการปลูกต้นไม้