สุโขทัย!!ผวจ.สุโขทัยเชิญร่วมบุญต่อยอดทุนการศึกษา”

ผู้ว่าสุโขทัยเชิญร่วมบุญต่อยอดทุนการศึกษาและปรับปรุงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ขอเชิญบูชา “เหรียญพระแม่ย่า รุ่นมหาอิทธิฤทธิ์” เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ลงยาเขียว-แดง-เหลือง เพื่อจัดตั้ง “กองทุนพิพัฒน์การศึกษาสุโขทัย” มอบเป็นทุนการศึกษา พัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุโขทัย และปรับปรุงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จัดสร้างจำนวน 9,999 องค์ ให้เช่าบูชาองค์ละ 999 บาท เหรียญทองคำ จัดสร้างจำนวน 66 องค์ ให้เช่าบูชาองค์ละ 24,999 บาท โดยจะมีพิธีบวงสรวงเทวดาบูชาฤกษ์เทวาภิเษก ในวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 19.59 น. ณ ศาลพระแม่ย่า อ.เมือง จ.สุโขทัย สั่งจองได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 38สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 และประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย หรือทางเฟสบุ๊ค เพจ กองทุนพิพัฒน์การศึกษาสุโขทัย

รูปแบบเหรียญหล่อโบราณลงยาที่จัดทำครั้งนี้ เป็นรูปยอดเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย เป็นการหล่อแบบโบราณลงยาเอกลักษณ์สุโขทัยด้วยสีประจำจังหวัด คือสีแดง สีเหลือง สีเขียว มีเข็มกลัดด้านหลังย้อนกลัดขึ้นต่างจากแบบอื่น พร้อมจารึกภาษาสุโขทัยโบราณว่า กูจะคุ้มครองมึงให้อยู่รอดปลอดภัย รุ่งเรือง ร่ำรวย สำเร็จๆ โดยได้นิมนต์พระราชวิมลเมธี เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นิมนต์พระเถราจารย์ 4 รูป นั่งปรกอธิษฐานจิต ได้แก่ พระครูนันทสีลจาร (หลวงพ่อบุญมี เปมสิไล) วัดโบสถ์ อ.สวรรคโลก พระสุขวโรทัย (หลวงพ่อจง) วัดสังฆาราม อ.บ้านด่านลานหอย พระอธิการาม ปรกฺกโม (หลวงพ่อราม) วัดวังเงิน อ.คีรีมาศ พระครูวิชัยคุณาธาร (หลวงพ่อกฤษณะ) วัดราษฎร์ศรัทธาราม อ.ศรีสำโรง กำหนดเทวาภิเษกในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 19.59 น. และได้รับเกียรติจาก ดร.สมไทย วงษ์เจริญ เป็นบัณฑิตผู้ทำพิธีพราหมณ์

พระแม่ย่า คือเทวรูปสลักหินชนวนที่ชาวสุโขทัยเคารพนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง แต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำแม่ย่า ในเขตเทือกเขาหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย องค์พระแม่ย่าสลักด้วยหินชนวนเป็นรูปสตรี มีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณสูงศักดิ์ ประทับยืนตรง แขนทั้งสองข้างแนบกาย ทรงภูษาปล่อยชายไสวเป็นเชิงชั้นทั้งสองข้าง ไม่สวมเสื้อหรือสไบ ใส่กำไลต้นแขน กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้าทั้งสองข้าง สวมฉลองพระบาทปลายงอน พระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม สวมมงกุฎเป็นชฎาทรงสูง ยอดศิลาส่วนเหนือมงกุฎแตกบิ่นหายไปเล็กน้อย ขนาดของพระรูปรวมแท่นหินจำหลักอยู่ในแผ่นหินเดียวกันมีความสูง 52 นิ้ว ประวัติของพระแม่ย่านั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเป็นใคร แต่ชาวสุโขทัยส่วนใหญ่เข้าใจว่า คือ พระนางเสือง พระราชชนนีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งในสมัยนั้นกษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อของคนทั้งเมือง ไพร่ฟ้าประชาชนเปรียบประดุจลูก จึงเรียกมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “ย่า” ชาวสุโขทัยจึงเรียกตามความเชื่อดังกล่าวสืบมา

Loading