ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามรอยเท้าพ่อดอยปู่หมื่น
วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เวลา 800 น. นางสาวอำไพ ไชยพิจิตร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่ 1 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,นายอุดม ชิดนายี เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขตพื้นที่ 1,ดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางสาวจิราวรรณ ไชยกอ ตัวแทนโฮมสเตย์กลุ่มปลูกชาอัสสัม (ต้นแรกที่ได้รับพระราชทานต้นชาจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9) พร้อมคณะ และนักศึกษา เอกการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน50 คน ได้เดินทางมาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกษตรธรรมชาติ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้นำผู้นำด้านการท่องเที่ยวจากหลายหน่วยงานเดินทางขึ้นบ้านดอยปู่หมื่นหมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
โดยต้องการพัฒนาทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ชุมชน ประชาชน อาชีพ อนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ คณะได้เข้าชมต้นชาต้นแรกที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานให้กับนายจะฟะ ไชยกอ อดีตผู้นำชนเผ่าลาหู่ มาปลูกที่พื้นที่บ้านดอยปู่หมื่น เมื่อปี 2515 เพื่อทดลองปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น และได้ทำการขยายพันธ์แจกให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อปลูกแล้วเก็บยอด ใบ ทำชาแห้ง และผลิตภัณฑ์ชาที่จะต้องทำการส่งเสริมให้กับชาวบ้านได้ปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น และปลูกร่วมกับต้นไม้ใหญ่เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และป่าให้คงอยู่เพื่อรักษาต้นน้ำลำธารเพื่อความยั่งยืน และได้ทำการร่วมกันปลูกต้นชาอัสสัม ในแปลงต้นชาพระราชทาน และเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการเปิดแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ ในแนวโฮมสเตย์ กางเต้น อาหารชนเผ่า วิถีชีวิตชนเผ่าลาหู่ ร่วมเก็บชายามเช้าเช้า ดื่มชา อบชา คั่วชา หมู่บ้านชนเผ่า และแนว
ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบนดอยสูงในเทือกเขาแดนลาว อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ที่ดอยปู่หมื่นมีความสูงในระดับน้ำทะเลประมาณ 1298 เมตร ที่ยังมีหมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ที่นับถือศาสนาคริสต์ และพุทธศาสนา จำนวนประมาณ 150 ครอบครัว ที่อยู่กันอย่างมีความสุข มีความสามัคคีกันในชนเผ่าและผู้มาเยือนหรือมาท่องเที่ยว มีความปลอดภัยสูง ห่างจากอำเภอแม่อายประมาณ 15 กิโลเมตรจากเส้นทางหลวง1089 อำเภอแม่อายแยกเข้าทางหลวงชนบท 3037 ห่างจากอำเภอฝางประมาณ 20 กิโลเมตร จากทางหลวง107 แยกเข้าทางหลวงที่ 1089 อำเภอแม่อายแยกเข้าทางหลวงชนบท 3037 มีถนนที่ลาดยางและคอนกรีตเข้าถึงหมู่บ้าน แต่จะมีทางที่เป็นดินลูกลังอีกประมาณ 1 กิโลเมตรเข้าหมู่บ้าน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มากันและต้องการเที่ยวป่าธรรมชาติ วิถีชีวิตชนเผ่าลาหู่ และอากาศที่หนาวเย็นทั้งปี เหมือนกับดอยผ้าห่มปก และดอยอ่างขาง และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหลายแห่งในพื้นที่เดียวกัน
นายสำราญ แสงสงค์/จ.เชียงใหม่