พะเยา – ลาบสุงแสง ต้นตำรับ “ขุนพลลาบเมืองเจียงคำ” ตำนานเขียงบินสะท้านยุทธภพ ดังไกลข้ามเขาไปถึง สปป.ลาว ถ้าไม่จอง!!! อดรับประทาน สร้างรายได้ 15,000 – 20,000 บาทต่อวัน
วันนี้( 1 พ.ย.2561 ) ผู้สื่อข่าวบุกพิสูจน์คำล่ำลือการกล่าวขานจากนักชิม ลาบเมืองเหนือ ว่า ร้านลาบลุงแสง บ้านเลขที่ 195 บ.ดอนไชย ม.5 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ซึ่งเป็นร้านลาบในตำนานชื่อดังของชาวเชียงคำและชาว สปป.ลาว ที่ผ่านเชียงคำเป็นต้องแวะชิม
คุณลุงแสง วงศ์ใหญ่ อายุ 61 ปี เปิดเผยว่า ตนเองและภรรยา มาเปิดร้านที่เชียงคำ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 12 ปีมาแล้ว ในตอนเริ่มเปิดร้านใหม่ๆในช่วง 3 เดือนแรกนั้น แทบจะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย บางวันถึงกับนั่งตบยุงตีแมลงวันกันเลยทีเดียว แต่ด้วยความมานะอดทนและเชื่อมั่นในฝีมือการลาบของตนเอง ลูกค้าที่เข้ามารับประทานต่างก็ชื่นชมและบอกกันปากต่อปาก ว่าร้านลาบลุงแสง อร่อยเด็ดจริงๆ ไม่เคยทานลาบขมที่ไหนอร่อยเท่านี้มาก่อน พอเข้าเดือนที่ 4 ลูกค้าก็พากันเข้าร้านจนขายแทบไม่ทัน บางวันเที่ยงกว่าๆอาหารที่เตรียมไว้ก็จำหน่ายจนหมด ลูกค้าที่มาสายหรือไม่ได้จองไว้ต้องหิ้วท้องกลับบ้านกันเลยทีเดียว
ลุงแสง กล่าวต่ออีกว่า ได้มีคนมาขอสูตรเพื่อจะนำไปเปิดร้าน ลาบขม เหมือนลุงแสง ตนก็แบ่งปันสูตรลาบให้ไปโดยไม่คิดปิดบังและไม่ได้ขอเงินค่าสูตร เพราะลุงถือว่า การให้เขามีอาชีพและเลี้ยงครอบครัวได้เราก็ได้บุญและเป็นสุขด้วย อีกอย่าง ร้านของลุงแสงเอ็งก็ไม่สามารถที่จะรองรับลูกค้าจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสูตรลาบขม ที่ให้ไปกับคนที่มาขอทั้ง 2 ราย จึงทำให้เกิดมีชื่อเสียง เล่าขาน ว่าเป็น “3 ขุนพลลาบเมือง เจียงคำ ตำนานเขียงบินสะท้านยุทธภพ” คือ ร้านลาบลุงแสง(บ้านดอนไชย) ร้านลาบลุงรบ(บ้านพระนั่งดิน) ร้านโมโยลื้อลุงบุญธรรม(บ้านธาตุ) ทั้ง 3 ร้านนี้ ถ้าใครที่ผ่านไปมาในอำเภอเชียงคำ ต้องมารับประทาน ลาบขม ร้านใดร้านหนึ่งให้ได้ จนเป็น “ร้านต้องห้ามพลาด” เมื่อมาเยือนถิ่นอำเภอเชียงคำ ลูกค้าที่แวะเวียนมารับประทาน มีทั้ง คนในและนอกพื้นที่ ต่างอำเภอต่างจังหวัด แม้แต่ พี่น้องแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว เมื่อเข้ามาทำธุระในอำเภอเชียงคำก็จะมาทาน ลาบขมลุงแสง เป็นประจำทุกครั้งไม่พลาดเลย เพราะรสชาติที่อร่อยแตกต่างจากที่อื่นนั่นเอง
สำหรับวัตถุดิบที่ลุงแสงจะต้องเตรียมทุกๆวัน คือ “เนื้อควาย” เท่านั้น (เนื้อวัว จะมีกลิ่นเหม็นสาบแรง) พร้อม เลือดและเครื่องใน สดๆจากเขียงเนื้อในตลาดเจ้าประจำ วันละ 10 กิโลกรัม เพื่อนำทำ ลาบขม , ส้าขม (เนื้อซอยหนาสดๆปรุงดิบกับพริกลาบ) ส่วนที่นำมาทำ ต้มขม จิ้นนึ่ง ปิ้ง ลวก ย่าง ก็ซื้อเพิ่มอีก 10-20 กิโลกรัม โดยจะจำหน่ายหมด ทุกวัน ตนจะไม่นำเอาเนื้อเก่าที่ค้างข้ามวันข้ามคืนมาประกอบอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียรสชาติ ไม่อร่อยและเน้นความสะอาดเป็นหลักด้วย ส่วนพริกลาบ ก็ คั่วตำเอง โดยมีส่วนผสม หลักๆ คือ พริกแห้ง ดีปลี มะแข่วน กระเทียม กระวาน นำมาโขลกรวมกันแล้วเอาไปคั่วไฟอ่อนจนหอมเตะจมูก ส่วน เพลี้ยอ่อน(ขี้อ่อนควาย) ก็นำมาต้ม จะได้รสชาติของความขมปนหวาน เป็นที่มาของความขมของ ลาบขม ส้าขม ต้มขม และใส่เฉพาะอาหารที่เป็นชุดของเนื้อควายเท่านั้น เนื้อหมูไม่นิยมใส่เพราะรสชาติไม่เข้ากัน
เมนูยอดนิยม ที่ลูกค้าที่มักจะสั่งรับประทานกันเป็นลำดับแรก คือ ลาบขมกับต้มขม 2 อย่างนี้จะขายดีมากและมักจะหมดก่อนเมนูอย่างอื่น เช่น ลาบหมูดิบ/คั่ว ,ต้มแซ่บ ,นึ่ง ย่าง ยำเปื่อย ,เครื่องในลวก , แหนมซี่โครง จะหมดตามทีหลัง และมักจะเสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ ทานคู่กันกับ ผักสดๆใหม่ๆ ก็จัดเต็มให้ เติมได้ไม่อั้น ราคาที่ทางร้านจำหน่าย ทุกเมนู เป็นราคาเดียว 60 บาท ปริมาณที่ให้ก็เต็มที่จนล้นจานรสชาติก็เกินคำบรรยาย จนเป็นที่ถูกอกถูกใจเล่าขานกันปากต่อปากข้ามไปจนถึง สปป.ลาว
นายสุก จันทะวง อายุ 34 ปี ชาวบ้านกูก เมืองเชียงฮ่อน แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว อาชีพค้าขาย มาพร้อมกับเพื่อนๆ กล่าวว่า ตนเองจะเข้ามาซื้อสินค้าจากประเทศไทยแล้วนำไปขายที่ สปป.ลาว ทุกอาทิตย์ ทุกๆครั้งที่ได้มาก็จะแวะมาทาน ลาบขม ต้มขม ร้านลาบลุงแสง เดือนละประมาณ 4-5 ครั้ง และพี่น้องทางฝั่ง สปป.ลาว ก็ได้ยินกิตติศัพท์ความอร่อยของ ลาบลุงแสง จนต้องมาลองรับประทานให้ได้และก็ติดอกติดใจกันทุกคน วันนี้ตนรับประทานอิ่มแล้วยังไม่พอ ต้องขอซื้อ ลาบขมกับต้มขม ไปเป็นของฝากให้กับครอบครัวที่ สปป.ลาว ด้วย
นายโกวิทย์ ไชยเมือง และ นายสุรพรรณ แสนคำปา ชาววิถีไบร์ทเกอร์อำเภอเชียงคำ ที่โทรสั่งจอง ลาบลุงแสงไว้ก่อนหน้า เผยว่า ตนเองมักจะพาครอบครัวและเพื่อนๆมารับประทาน ลาบขมลุงแสง จนเป็นลูกค้าเจ้าประจำ เพราะติดใจในรสชาติ ที่หาทานที่ไหนก็ไม่เหมือนลุงแสงทำ ถือว่าเป็นสุดยอดแห่ง ลาบขมเมืองเหนือ เลยทีเดียว
ลุงแสง ได้เปิดเผย เคล็ดลับและสูตรลับ ของตนว่า ร้านลาบขมที่ใช้พริกลาบเหมือนกัน แต่ทำออกมารสชาติอร่อยไม่เหมือนกัน เคล็ดลับอยู่ที่ “การคน” ต้อง คลุกเคล้าจนเหนียวนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน การทำลาบขม นั้นต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน แม้สูตรที่ลุงแสงให้ไปโดยไม่ปิดบังนั้น อาจทำออกมาได้รสชาติไม่เหมือนต้นตำหรับฝีมือของลุงแสงเองได้ จนใครๆต้องมาทานที่ร้าน ลาบลุงแสงเอง ส่วนรายได้ที่จำหน่ายอาหารในแต่ละวัน ประมาณวันละ 15,000 – 20,000 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวและจ้างงานเหล่าพนักงานเสิร์ฟอีก 3 คน
สำหรับท่านที่จะมารับประทาน ลาบขม ร้านลุงแสง เปิด เวลา 08.00 น – 17.00 น. หยุดทุกๆ วันพระ เพราะว่าต้องใช้เนื้อสดๆมาทำ แต่ถ้าเป็นวันพระ จะไม่มีการฆ่าสัตว์ ส่วนวันอื่นร้านเปิดตามปกติ สามารถสำรองที่นั่งได้ ร้านลาบลุงแสง โทร 087-183-6805
(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )