พะเยา- อ.จุน พิธีเปิด “ประเพณีตานข้าวใหม่ สู่ขวัญข้าว ขนข้าวขึ้นเล้า ของจาวเมืองจุน” ครั้งที่ 13 ประจำปี 2562
วันพุธ ที่ 9 มกราคม 2562ณ สหกรณ์การเกษตรจุน จำกัด อำเภอจุน จังหวัดพะเยา นายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ ปลัดจังหวัดพะเยา มาเป็นประธานพิธีเปิดงาน โดยมีนายมานนท์ บัวแดง ประธานสหกรณ์การเกษตรจุนจำกัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนอำเภอจุน กว่า 500 คนให้การต้อนรับพร้อมทั้งมีกลุ่มแม่บ้านอำเภอจุนมาแสดงการเต้นบาสโลบ เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานร่วมกัน
นายศักดิ์ชัย เผยว่า โครงการธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แนวคิดมาจากโครงการธนาคารข้าว ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประชาชนพึ่งตนเองโดยให้พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ในบางเรื่องทรงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาวและในบางกรณี ก็ทรงเห็นว่า จำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องข้าว ทรงพยายามทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมีข้าวพอกิน ดังที่ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงปรารภว่า “ขณะนี้ราษฎรต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาสูงทั้งๆที่ข้าวเปลือก มีราคาต่ำ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางแสวงหากำไรเกินควร บางท้องที่ชาวนาขาดแคลน ข้าวบริโภคในบางฤดูกาล” จึงเริ่มมีการตั้งธนาคารข้าวขึ้นใน พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา และพิธีสู่ขวัญข้าว เป็นความเชื่อเพื่อเป็นการบำรุงขวัญของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อบันดาลให้ผลผลิตข้าวในปีหน้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ขอขอบคุณสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยาและสหกรณ์การเกษตรจุน จำกัด ที่ได้จัดกิจกรรมวันนี้ขึ้น
กิจกรรมในวันนี้เป็นการเปิดโครงการธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกรและงาน “ประเพณีตานข้าวใหม่ สู่ขวัญข้าว ขนข้าวขึ้นเล้า ของจาวเมืองจุน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ เรื่องธนาคารข้าว และมีสถานที่รับฝากข้าวเพื่อเก็บไว้สำหรับบริโภคได้ตลอดทั้งปี ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ได้สืบทอดพิธีสู่ขวัญข้าวด้วยสำนวนหรือภาษาถิ่นที่หาฟังได้ยาก เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรชาวนา อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงคุณภาพข้าวหอมมะลิ ของอำเภอจุน จังหวัดพะเยา ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและที่สำคัญคือได้พัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร ในอำเภอจุน จังหวัดพะเยา โดยมีการรวมกลุ่มกันผลิตที่เข้มแข็ง มีตลาดรองรับที่แน่นอน มีต้นทุนการผลิตลดลงและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างโอกาสในการแข่งขัน สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง เป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนและประเทศชาติต่อไป
(ภาพ/นัยนันท์ ศรีนาม ;ข่าว/สราวุธ ตั้งประเสริฐ : พะเยา )