วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

คณะเกษตรศาสตร์!!มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์”จัดกิจกรรมวันเก็บเกี่ยวข้าว”ภายใต้ชื่อ” หอมกระดังงาลาทุ่ง”

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดกิจกรรมวันเก็บเกี่ยวข้าวภายใต้ชื่อ “หอมกระดังงา ลาทุ่ง” พร้อมกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง “หอยเชอร์รี่ ภัยร้ายตัวใหม่ในนาข้าวนราธิวาส” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่ท้องถิ่น การป้องกันนาข้าว เพิ่มผลผลิตในอนาคต


ณ แปลงข้าว ฟาร์มเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันเก็บเกี่ยวข้าว ภายใต้ชื่อ “หอมกระดังงา ลาทุ่ง” พร้อมด้วยกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง “หอยเชอร์รี่ ภัยร้ายตัวใหม่ในนาข้าวนราธิวาส” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยจากหอยเชอร์รี่ที่คุกคามต้นข้าวในนาข้าวให้นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ในการป้องกันนาข้าวจากภัยอันตรายจากหอยเชอร์รี่ที่สร้างความเสียหายได้อย่างมาก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวจากนาลดน้อยลง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ มนทนา รุจิระศักดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฯถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง “หอยเชอร์รี่ ภัยร้ายตัวใหม่ในนาข้าวนราธิวาส” ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมและร่วมลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวในครั้งนี้

สำหรับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เลือกผลิตพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดนราธิวาส พันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นข้าวกล้องมีสีแดง และมีกลิ่นหอม โดยมหาวิทยาลัยฯได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์แท้จากศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี และได้นำมาปลูกในพื้นที่ ประมาณ 4 ไร่ ในฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนาแปลงนี้ปลูกและดำนาโดยนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยฯที่เรียนในรายวิชาหลักเศรษฐกิจพอเพียง วิชาหลักการผลิตพืช และวิชาฝึกงานทางพืชศาสตร์

สำหรับกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง “หอยเชอร์รี่ ภัยร้ายตัวใหม่ในนาข้าวนราธิวาส” โดยในปีนี้ได้เกิดการระบาดของหอยเชอร์รี่ในแปลงข้าวหอมกระดังงา ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ใหม่ของนาข้าวในภาคใต้ตอนล่าง คณะเกษตรศาสตร์จึงได้จัดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง “หอยเชอร์รี่ ภัยร้ายตัวใหม่ในนาข้าวนราธิวาส” แก่เกษตรกรชาวนา เกษตรกรในเครือข่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บุคลากรและนักศึกษา ประชาชนที่สนใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จงรัก พลาศัย นายกสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เปิดเผยถึงผลคืบหน้าของในการดำเนินการในการยกระดับนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ว่า เป็นวิสัยทัศของทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติงานที่ต้องเปิดโลกทัศให้นักศึกษามีวิสัยทัศที่กว้างไกล โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเด็กต้องได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศให้ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯได้ลงนามความร่วมมือ MOU กับประเทศอิสราเอล โดยผ่านทางสถานทูต ส่งนักศึกษาไปฝึกงานรุ่นแรก จำนวน 10 คน ในระยะเวลาฝึกงาน 1 ปี โดยให้นักศึกษาคณะเกษตรได้มีโอกาสไปศึกษางานในต่างประเทศเพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้กลับมาปรับปรุงพัฒนามาใช้ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ พร้อมได้วิจัยพืชอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในโลกอาหรับหรือกลุ่มประเทศอิสลามที่คเป็นพืชเศรษฐกิจและสั่งต้นกล้าผ่านกงศุลต่างประเทศ ประมาณ 200 ต้น มาศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯกล่าวถึงความพร้อมในการจัดการมหาวิทยาลัยนอกระบบว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯนั้น มีอายุครบ 14 ปี แล้ว ซึ่งได้มีการพัฒนามาตามลำดับ โดยนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆได้ทยอยออกมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของตามลำดับ ในส่วนของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯอยู่ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่จะปรับเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเช่นเดียวกันและอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะปรับเปลี่ยนในการดำเนินการจัดทำเรื่องของ พ.ร.บ.ข้อบังคับและระเบียบต่างๆเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องของการบริหารจัดการให้สามารถบริหารจัดการภายใต้พันธกิจของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกันตามเป้าหมายของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯที่ได้วางไว้

ภาพ/ข่าว ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส

Loading