ราชบุรี ฝนหลวงภาคใต้ทําฝนเทียม 3 จังหวัดเพิ่มประมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและช่วยพื้นที่เกษตร
วันนี้ 13 พ.ค.62 นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี นายวีระพล สุดชาฎา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ นายณฐพล อุ่มเอิบ ประธานอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดราชบุรี ใช้เฮลิคอปเตอร์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นบินสำรวจบริเวณพื้นที่ราชบุรี หลังประสบปัญหาภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับผลกระทบ อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลาง และสระน้ำหมู่บ้านขนาดใหญ่ บางแห่งไม่สามารถผลิตระบบน้ำประปาแจกจ่ายแก่ราษฎรในพื้นที่ได้
โดยมีนายโชคดี ตั้งจิตต์ เกษตรอำเภอปากท่อ นายสุชิน จักรเพชร รองนายกเทศบาลตำบลทุ่งหลวง ได้ให้ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร บางจุดมีสภาพเป็นพื้นที่อับฝน มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาน้อย อีกทั้งอ่างเก็บน้ำบ้านพุยาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ด้านการเกษตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก ทำให้พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบ ยังมีสระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้านใน ต.ทุ่งหลวงแห้งขอด ไม่สามารถส่งน้ำเข้าระบบผลิตน้ำประปาให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้แล้ว ทางเทศบาลจึงได้ประสานทหารกองพลทหารช่างนำรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือแจกน้ำให้แก่ชาวบ้านแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงขอให้ทางศูนย์ฯฝนหลวงเร่งช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยวันนี้ทางคณะได้สำรวจพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง อ.เมือง ซึ่งมีความจุเก็บกักน้ำได้ประมาณ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งอ่างเก็บน้ำบ้านพุยาง นอกจากนี้ยังได้บินสำรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งพรม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมทั้งอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยศาลา และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อรวมรวมข้อมูลนำไปวิเคราะห์สภาพพื้นที่เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือ
นายวีระพล สุดชาฎา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลตั้งแต่ จ.ราชบุรีลงไปถึงจ.นราธิวาส ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ช่วยเหลือพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ในการช่วยลดปัญหาไฟป่า ช่วยเหลือด้านการเกษตร การเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเหลือค่อนข้างต่ำ หลังจากเริ่มดำเนินการมานั้นเริ่มมีฝนตกกระจายในพื้นที่ที่ต้องการฝน แต่ยังมีพื้นที่บางแห่งที่ยังร้องขอการทำฝนเข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีพื้นที่ราชบุรีโดยเฉพาะ อ.จอมบึง อ.ปากท่อ ที่ร้องขอเข้ามาที่ศูนย์ฯเกี่ยวกับพืชผลการเกษตร ส่วน อ.ปากท่อ มี 4 ตำบล ได้แก่ ต.ยางหัก ต.อ่างหิน ต.ห้วยยางโทน และ ต.ทุ่งหลวง เป็นเรื่องพืชผัก และไม้ผลที่ต้องการฝนเข้ามาช่วยเหลือในช่วงนี้ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ ส่วนปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นสภาพอากาศบางช่วงมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ค่อนข้างต่ำ เป็นอุปสรรคในขั้นตอนที่จะปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อสร้างเมฆให้กลายเป็นฝน
นอกจากนี้ตัวแทนชาวบ้านยังให้ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ ต.ทุ่งหลวง ต.ห้วยยางโทน ต.ยางหัก ต.อ่างหิน กำลังประสบปัญหาภัยแล้งพืชผลทางการเกษตรขาดน้ำ เกษตรกรบางคนต้องซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำคันละ 700 บาท เอามาเติมในสระของตัวเองเพื่อนำไว้รดพืชผักที่ปลูก เพื่อรอฝนมาช่วย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาพืชผักที่ปลูกไว้มีราคาแพง เช่น ถั่วฝักยาว กิโลกรัมละ 90 บาท มะเขือยาวกิโลกรัมละ 60 บาท ทำให้เกษตรกรกล้าเสี่ยงลงทุนสูง ไม่อยากให้พืชผักของตัวเองต้องแห้งเหี่ยวตายลงไป จึงร้องขอให้ทางศูนย์ฯฝนหลวงช่วยเหลือทำให้ฝนตกในพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตามหลังจากที่บินสำรวจพื้นที่เรียบร้อยแล้วทางคณะได้ร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน เนื่องจากพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงจากการสำรวจทราบว่าเป็นพื้นที่อับฝนมีภูเขาสูงชัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาน้อยกว่าปกติกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยอนาคตจังหวัดจะร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่อำเภอปากท่อ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่าช่วยเหลือการปฏิบัติการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
สุจินต์ นฤภัย (เต้)