วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

พิธีอนุสาวรีย์เจ้าจันทกินรี”เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก”

มุกดาหาร พิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าจันทกินรี เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก
มุกดาหาร – ผวจ.มุกดาหาร และอดีต ผวจ. นำชาวมุกดาหารเปิดอนุสาวรีย์พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามันธาตุราช (เจ้าจันทกินรี) เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดมุกดาหาร


เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 62 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าจันทกินรี ถนนแก้วกินรี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามันธาตุราช ( เจ้าจันทกินรี ) เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก พร้อมด้วย นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร นายปรานีต บุญมี นายชาญวิทย์ วสยางกูร นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ อดีต ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า และประชาชนชาวมุกดาหารร่วมงานในครั้งนี้

สำหรับพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามันธาตุราช ( เจ้าจันทกินรี ) เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก โดยมีพระสงฆ์ 9 รูป พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ประธานฝ่ายสงฆ์ให้ศีล จากนั้นพิธีพราหม์ได้บูชา และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดมุกดาหาร


ภายในงานยังจัดให้มี การรำตำนานเมืองมุกดาหาร และรำร่วมสมัยสไตล์สองฝั่งโขง จากทางแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และ จังหวัดมุกดาหาร โดยผู้รำกว่า 1,429 คน การจำหน่าย สินค้า OTOP สินค้าธงฟ้าราคาประหยัด ผลิตภัณฑ์ชุมชน และสินค้าของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ นิทรรศการประวัติเมืองมุกดาหาร นิทรรศการผลงานศิลปะภาพถ่ายเมืองมุกดาหาร การแสดงวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ” ถนนสายวัฒนธรรม@ มุกดาหาร ” ชมการประกวดนาฏยศิลป์ร่วมสมัย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงของศิลปิน และศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จังหวัดมุกดาหาร ตลอดจนร่วมชม ชิม ช็อป อีกด้วย..
ประวัติ พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามันธาตุราช ( เจ้าจันทกินรี )

เจ้าจันทรสุริยวงษ์ และพรรคพวกได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิม ใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ต่อมาอีกหลายสิบปี จนได้ถึงแก่กรรม เจ้าจันทกินรี ผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครองต่อมา จนถึง พ.ศ. 2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบเมืองร้าง วัดร้างและพบต้นตาล 7 ยอดอยู่ริมฝั่งโขง เห็นว่าเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อีกทั้งในแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุกมีปลาชุมชุมอีกด้วย จึงกลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีหัวหน้าทราบ เจ้าจันทกินรีได้พาพรรคพวกข้ามโขงมาดูก็เห็นว่าคงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณมาก่อน และเป็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์กว่าทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จึงได้พากันอพยพจากบ้านหลวงโพนสิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังมุก


เมื่อเริ่มถากถางหักร้างพงเพื่อตั้งเมืองขึ้นใหม่ ได้พบพระพุทธรูป 2 องค์อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี จึงได้พร้อมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างริมฝั่งโขง และขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า วัดศรีมุงคุณ(ศรีมงคล) และได้ก่อสร้างกุฏิวิหารขึ้น ในบริเวณวัดพร้อมกับได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ที่อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงขึ้นไปประดิษฐาน บนพระวิหารของวัด ต่อมาปรากฎว่าพระพุทธรูปโลหะ (องค์เล็ก) เกิดปาฎิหาริย์กลับลงไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตั้งเดิมอีกถึง 3-4 ครั้ง ในที่สุดพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นก็ค่อยๆ จมหายลงไปใต้ดิน คงเห็นแต่ยอดพระเกศโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขง จึงได้พร้อมกันสร้างแท่นสักการะบูชาครอบไว้ในบริเวณนั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระหลุบเหล็ก ปัจจุบันบริเวณที่พระหลุบเหล็กจมดินได้ถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งโขงพังลงไปหมดแล้ว (คงเหลือแต่แท่นสักการะบูชาที่ยกเข้ามาเก็บรักษาไว้หน้าพระวิหารของวัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน)


ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ก่ออิฐถือปูนและได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนพระวิหารของวัดศรีมุงคุณ ชาวเมืองได้ขนานนามว่า “พระเจ้าองค์หลวง” เป็นพระประธานของวัดศรีมุงคุณ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนนามเป็น วัดศรีมงคลใต้ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตลอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเวลากลางคืน ได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งแปลงเป็นประกายแวววาวเสด็จ (ลอย) ออกจากต้นตาล 7 ยอดริมฝั่งโขง ล่องลอยไปตามลำน้ำโขงแทบทุกคืน จวบจนใกล้รุ่งสว่างแก้วดวงนั้นจึงเสด็จ(ลอย) กลับมาที่ต้นตาล 7 ยอด เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตดวงนี้ว่า “ แก้วมุกดาหาร” เพราะตั้งเมืองขึ้นริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุกอีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุก อยู่ในหอยกาบ(หอยกี้) ในลำน้ำโขงอีกด้วย เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า เมืองมุกดาหาร ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132 (พ.ศ.2313) อาณาเขตเมืองมุกดาหาร ครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงจนจรดแดนญวน ( รวมเขตของแขวงสุวรรณเขตของดินแดนลาวด้วย )


ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แผ่แสนยานุภาพขึ้นมาถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง พ.ศ. 2321 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระยาจักรียกกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เพื่อปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองใหญ่น้อยในสองฝั่งแม่น้ำโขงให้รวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกและได้พระราชทานนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร ภายในมีปราสาทชื่อ สองนางสถิตย์ ภายในปราสาทองค์กลางมีแก้วมุกดาหารอยู่บนพาน ใต้พานมีผ้าทิพย์รองรับ หน้าผ้าทิพย์มีอักษรไขว้ชื่อย่อจังหวัด ในปราสาทองค์ริมทั้งสองข้าง มีบายศรียนตะลุ่มอันเป็นเครื่องบูชาของชาวอีสาน เบื้องหลังมีพระธาตุพนมซึ่งจังหวัดมุกดาหารแยกมา และเคยอยู่ในอาณาจักรโคตรบูรณ์เดียวกัน มีแนวแม่น้ำโขงอยู่ด้านหลัง ด้านตะวันออก พระอาทิตย์กำลังทอแสงหลังหมู่ก้อนเมฆ 2525 เป็นปีที่ตั้งจังหวัดมุกดาหาร…

อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ / มุกดาหาร

Loading