กองทัพภาคที่ 3 ร่วมจังหวัดพิษณุโลก จัดกิจกรรมการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3/ ผู้อำนวยการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3 เป็นประธานในพิธีเปิดงานวาระจังหวัดด้าน “การป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าเนื่องในวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2560 ” ณ หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้นาย ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายฐานุพงษ์ เจริญสุรภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯพร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธี
เนื่องด้วย กองทัพภาคที่ 3/ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 3ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลกโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุฒไฟป่าในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จัดเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,120 คน ซึ่งในปัจจุบันภัยคุกคามจากการลักลอบบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างรุนแรง และนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้พื้นป่าไม้ของจังหวัดพิษณุโลกถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศ และสร้างปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อุทกภัย ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ดังเช่น การเกิดมหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและทำกิน และนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกแผ้วถาง เผาป่า ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีนายทุนและผู้มีอิทธิพลทำการจ้างวานให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกทำลายป่า เพื่อตัดไม้มีค่าที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และลักลอบส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมทั้งมีการว่าจ้างราษฎรให้บุกรุกจับจองที่ดิน และเปลี่ยนมือนำไปออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปเป็นของนายทุน เพื่อทำเป็นบ้านพักตากอากาศ โรงแรม และรีสอร์ท ทำให้เกิดวงจรการบุกรุกทำลายป่าหมุนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ประกอบกับในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม พบว่าในแต่ละปีเป็นช่วงหน้าแล้ง จะมีไฟป่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว และเป็นการทำลายสภาพสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งการเกิดไฟป่าในแต่ละครั้ง จะทำลายลูกไม้ กล้าไม้เล็กๆ ในป่า ทำให้หมดโอกาสเติบโตเป็นไม้ใหญ่ ส่วนไม้ใหญ่ก็จะหยุดการเจริญเติบโต เนื้อไม้เสื่อมคุณภาพลง สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์จะเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้สัตว์ป่าไม่มีที่อยู่อาศัย นอกจากการเกิดไฟป่าจะมีผลกระทบต่อการทำลายป่าให้เหลือน้อยลงแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และภัยแล้งตามมาอีกด้วย
ภาพ/ข่าว : ศปส.ทภ.3 , สบอ.11, สำนักข่าวพิดโลกนิวส์, สำนักข่าวที่นี่เมืองสองแคว