วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

พะเยา!!ไทยลื้อ อำเภอเชียงคำ”สักการะไหว้ศาลเจ้าฟ้าเจียงแข็ง”

พะเยา – ไทยลื้อใน อ.เชียงคำสักการะไหว้ศาลเจ้าฟ้าเจียงแข็ง ผู้นำชาวไทยลื้ออพยพจากเมืองสิบสองปันนาพร้อมพิธีกรรมสื่อสารกับองค์เทวดาฟ้าดิน


วันที่ 8 มิ.ย.2562 ที่ศาลเจ้าพ่อเจียงแข็ง บ้านดอนไชย ม.5 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้มีกลุ่มชาวไทยลื้อใน อ.เชียงคำพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าอย่างสวยงามทั้งหญิงและชาย เพื่อสักการะไหว้ศาลเจ้าพ่อ เจ้าฟ้าเจียงแข็ง (เจ้าเด็กน้อย) ซึ่งเป็นผู้นำชาวไทยลื้ออพยพจากเมืองสิบสองปันนา ประเทศจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ใน อ.เชียงคำ ได้สืบเชื้อสายลูกหลานชาวลื้อจนมาถึงปัจจุบัน


สำหรับชาวไทยลื้อใน อ.เชียงคำนั้น มีเจ้าเมืองหลายท่านมาตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆในเชียงคำ ทางเจ้าเมืองเจียงแข็งเองท่านเห็นว่าที่ตรงบ้านดอนไชยนี้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน เพราะมีลำน้ำญวน ลำน้ำอิงไหลผ่าน ดินดีอุดมสมบูรณ์ จึงลงหลักปักฐานนำชาวบ้านมาอาศัยอยู่ จนถึงปัจจุบันลูกหลานของเจ้าเมืองเจียงแข็ง แพร่พันธุ์สืบสกุลอย่างมากหลายใน อ.เชียงคำ และถิ่นฐานใกล้ไกล ลูกหลานเหลนโหลนก็ยังได้รำลึกถึงคุณงามความดีของท่านมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันสืบไป


นายประเทือง กองมงคล ผญบ.บ้านดอนไชย ม.5 กล่าวว่า “ ได้ถือเอาเดือน 8 เหนือ ซึ่งประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี มารวมตัวกันเพื่อระลึกรากเหง้าตนเอง รวมถึงสืบสานงานพิธีสักการะไหว้สา เจ้าฟ้าเจียงแข็ง โดยผู้ที่มาร่วมงานจะแต่งตัวตามแบบชาวไทยลื้อเหมือนสมัยก่อนอย่างสวยสดงดงาม
สำหรับกิจกรรมในงาน มีการบวงสรวงเจ้าฟ้าเจียงแข็ง และมีพิธีกรรมในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าพ่อเจียงแข็ง โดยการใช้วิธีการเสี่ยงทายจากเมล็ดข้าวสาร


นายสุบิน กองมงคล อายุ 71 ปี “ข้าวจ้ำ” หรือผู้ประกอบพิธีกรรม เผยว่า พิธีข้าวจ้ำเป็นการสื่อสารกับเทวดาเจ้าฟ้าบนสวรรค์ ว่าท่านได้รับอาหารคาวหวาน ของเซ่นไหว้ต่างๆ จนเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ กระทำได้โดยการอธิษฐานจิตพร้อมกับหยิบข้าวสารที่ใส่ในถ้วยออกมาเพื่อทำการเสี่ยงทาย โดยสังเกตได้จากการนับเมล็ดข้าวสาร หากว่าจับคู่ของเมล็ดข้าวสารแล้วเหลือเศษ 1 เมล็ด แสดงว่า ท่านยังเสวยไม่อิ่มและต้องการจะเสวยต่อ ก็จะทำการตักข้าวปลาอาหารเพิ่มเติมลงไปในถ้วยซ้ำอีก พร้อมกับถวายอาหารให้กับคนเลี้ยงช้างม้าที่เป็นบริวาร จากนั้นก็เริ่มทำการเสี่ยงทายต่อ จนหยิบข้าวสารที่เสี่ยงทายนับออกมาเป็นคู่จนไม่มีเศษ นั่นแสดงว่า ท่านพึงพอใจ และการทำเกษตรหรือการทำมาค้าขายจะประสบผลสำเร็จ


หลังจากนั้น ก็จะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยลื้อ เช่น ฟ้อนเจิงฟ้อนดาบ การฟ้อนรำของหญิงไทยลื้อ ซึ่งมีลีลาท่วงท่าอ่อนช้อย งดงามและการขับลื้อ อันเป็นเอกลัษณ์ของไทยลื้อสิบสองปันนา

(ภาพ/ข่าว สราวุธ ตั้งประเสริฐ พะเยา )

Loading