สุโขทัย เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกสุโขทัยหลวงพระบาง
อพท. จัดกิจกรรม “ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเชื่อมโยงกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกสุโขทัยหลวงพระบาง ดึงผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และหน่วยงานราชการ เปิดประตูเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงสุโขทัย หลวงพระบาง พร้อมจัดสัมมนาทางวิชาการและเจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งจากในและต่างประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวจากหลวงพระบาง และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในสุโขทัยมากขึ้น
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. กำกับดูแล อพท.4 กล่าวถึงการเดินทางครั้งนี้มีการนัดพบกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงด้านการท่องเที่ยวของลาว อาทิท่านท้าววงตาวอน หนอม เลขานุการห้องการแถลงข่าววัฒนธรรมและท่องเที่ยวแขวงหลวงพระบาง ท่านท้าวบุญเที่ยง สุริวัน ประธานสภาอุตสาหกรรมการค้าแขวงหลวงพระบาง ท่านท้าวกงจักกี พินทาสมบัติ รองประธานสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแห่งหลวงพระบาง และท่านท้าวดาวเพ็ด บุปผาทัน รองประธานสมาคมโรงแรม และร้านอาหารแขวงหลวงพระบาง ซึ่งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการเดินทางผ่านด่านพรมแดนบ้านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากนั้นมุ่งสู่เมือง “หลวงพระบาง” นั้นจุดอ่อนคือระยะทางค่อนข้างยาว น่าจะมีการพักระหว่างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ลักษณะเมืองรอง อีกทั้งหากมีสายการบินที่เชื่อมโยงสุโขทัย – ลาวได้ ซึ่งอาจเป็นสายการบินโลว์คอส จะทำให้เศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวเติบโตต่อไป ซึ่งในการเดินทางมาหารือสองเมืองมรดกโลกครั้งนี้ได้เห็นศักยภาพที่สามารถผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงได้ในอนาคต โดยทางสุโขทัยได้รับเกียรติจากนายดำรง มโนรถ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุโขทัย เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ว่าที่ ร.ต.ศุภชัย ทานะขันธ์. ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย นายวีระ ธูปทอง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุโขทัย ผู้เกี่ยวข้องกับธุระกิจการท่องเที่ยวและสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ห้องประชุมร้านอาหารเทพบุปผา แขวงหลวงพระบาง
วิถีชีวิตเรียบง่ายในหลวงพระบาง แหล่งท่องเที่ยวทางมรดกโลกที่สำคัญ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2538 หลังจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2534 หากเปรียบกับสุโขทัย ค่อนข้างจะมีวิถีชีวิตคล้ายกัน มีความโดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างของเมืองซึ่งเป็นความโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ในการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งหลวงพระบางยังคงเก็บรักษาไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา เช่นเดียวกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงศิลปกรรมชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปอย่างแท้จริงและยังคงหลงเหลือร่องรอยของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงเยาวชนรุ่นหลัง